สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

ยาที่ถูกพัฒนาโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในมนุษย์เป็นครั้งแรก

Mar 27, 2020

เราอาจจะเคยได้ยินถึงขีดความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ในอนาคตอาจจะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคนขับแทกซี่หรือจะมาแย่งงานคุณหมอในการวินัจฉัยผู้ป่วยด้วย แม้กระทั่งในวงการเกมและกีฬาที่ AI อย่าง Google DeepMind สามารถเล่นหมากล้อมเอาชนะมือหนึ่งของโลกอย่างลีเซดอลไปได้ หรือ OpenAI ที่เอาชนะทีมผู้เล่นแชมป์โลกในเกม DotA 2 นอกจากนี้ยังมีบทบาทในกลุ่มงานความคิดสร้างสรรค์ เช่น เขียนบทความเองได้ แต่งเพลงเองก็ได้ด้วย จะเห็นได้ว่าขีดจำกัดของ AI นั้นไม่สามารถคาดเดาได้จริง ๆ

ล่าสุด AI ก็เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตยา โดยนักวิจัยได้ใช้ระบบ AI มาช่วยค้นหาโมเลกุลสำหรับตัวยา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ยาที่ถูกค้นพบด้วยคอมพิวเตอร์นั้นจะถูกนำมาทดลองในมนุษย์ ซึ่งยาตัวนี้ถูกผลิตโดยบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤชื่อว่า Exscientia โดยร่วมมือกับบริษัทยาจากญี่ปุ่น Sumitomo Dainippon Pharma ยาตัวนี้จะถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ obsessive-compulsive disorder (OCD) ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้นับเป็น 2% ของประชากรทั้งโลก

ซึ่งปกติแล้วกระบวนการพัฒนายาจะกินเวลาถึงห้าปีจึงจะถึงระยะที่จะนำมาทดลองใช้จริงในมนุษย์ได้ แต่ AI ใช้เวลาเพียงแค่ 12 เดือนเท่านั้น โดยศาสตราจารย์แอนดริว ฮอปคินส์ CEO ของ Exscienta กล่าวว่ามันถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมการค้าหาตัวยา ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินการใช้ AI วินิจฉัย วิเคราะห์ข้อมูล และสแกนผู้ป่วย แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ AI จะได้ทำงานโดยตรงในการรักษาผู้ป่ายผ่านตัวยาที่คิดค้นขึ้นมาใหม่

โมเลกุลนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า DSP-1181 ถูกสร้างโดยการใช้อัลกอริธึมที่ไปควานหาสารประกอบหลายชนิดที่ระบบวิเคราะห์แล้วว่าความเป็นได้สูงที่จะนำมาใช้เป็นยาได้และนำไปทดสอบกับตัวแปรจำนวนมากที่เก็บบันทึกในฐานข้อมูลขนาดยักษ์ ซึ่งระบบ AI นี้จะต้องใช้การตัดสินใจเป็นพันล้านครั้งเพื่อที่จะเสาะหาโมเลกุลที่ถูกต้องเพียงโมเลกุลเดียว โดยเฉพาะถ้าเราต้องการพัฒนายาให้แม่นยำที่สุด แต่ความงดงามของอัลกอริธึมนี้ก็คือมันสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการผลิตยาเพื่อสำหรับโรคอะไรก็ได้ศาสตราจารย์ฮอปคินส์กล่าว

โดยตัวยานี้จะถูกนำไปทดลองในระยะแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะนำไปทดลองในทั่วโลก ตอนนี้ทางบริษัทก็กำลังดำเนินการพัฒนายาสำหรับการรักษามะเร็งและโรคหัวใจหลอดเลือด และหวังที่จะค้นพบตัวยาที่พร้อมทดลองใช้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถ้าการทดสอบยาเป็นได้ดีก็เท่ากับว่า AI ได้ปฏิวัติวงการเภสัชกรรมไปอย่างสิ้นเชิง โดยคาดว่าภายในทศวรรษนี้ยาชนิดใหม่ทุกชนิดจะไม่ได้ถูกคิดค้นโดยมนุษย์อีกต่อไปแต่จะเป็นผีมือของ AI ทั้งหมด

แหล่งที่มา BBC

Nontawit Cheewaruangroj, PhD

ไม่พบข้อมูลตำเเหน่ง

© Big Data Institute | Privacy Notice