สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

ฝ่าวิกฤติโควิด-19 จากบทเรียนในอดีต : ไข้หวัดใหญ่สเปน (1918 Spanish Flu)

Apr 7, 2020
A crowd of people

Description automatically generated
ภาพเหล่าทหารในรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สเปนและกำลังนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1918
แหล่งที่มาจาก Wikipedia

ในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤติโคโรนาไวรัส (โควิด-19) นั้น ทราบหรือไม่ว่า เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน โลกของเราเคยเผชิญกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ซึ่งเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งที่มีความร้ายแรงมาก และก่อให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก (pandemic) เหมือนกับการระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราทุกคน โรคไข้หวัดใหญ่สเปนนี้ ร้ายแรงถึงขั้นที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากถึง 500 ล้านรายโดยประมาณ หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลกในขณะนั้น มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ล้านราย แม้กระทั่งประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีผู้เสียชีวิตกว่า 675,000 ราย

เป็นไปได้ไหม ที่เราจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเหตุการณ์การระบาดอันร้ายแรงของไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี ค.ศ. 1918 เพื่อให้เราฝ่าวิกฤติโควิด-19 นี้ไปได้โดยให้ประชาชนทุกคนได้แคล้วคลาดปลอดภัย ลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด?

ในบทความนี้ เราจะตอบโจทย์ดังกล่าวโดยใช้ข้อมูลที่เมืองต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเก็บข้อมูลการแก้ปัญหาวิกฤติโรคระบาดนี้ ควบคู่กับปริมาณผู้เสียชีวิตในยุคนั้น เพื่อนำบทเรียนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ของเรากันครับ

ผมเชื่อว่าบทเรียนที่เราจะได้รับจากการศึกษาไข้หวัดใหญ่สเปนนั้น สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์โควิด-19 ได้ เพราะโรคระบาดทั้งสองนี้ มีความคล้ายคลึงกันอย่างน้อยถึงสี่ประการด้วยกัน

  1. โรคระบาดทั้งสอง มีความรวดเร็วในการแพร่เชื้อที่ใกล้เคียงกัน ในศาสตร์การวิจัยระบาดวิทยา (epidemiology) มักมีการกล่าวถึง ค่า R0 หรือค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน (basic reproduction number) ที่บ่งบอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถทำให้คนรอบตัวเขาป่วยได้อีกกี่คน โรคไข้หวัดใหญ่สเปนมีค่าเฉลี่ย R0 ที่ประมาณ 1.8 (source) ในขณะที่โควิด-19 มีค่าเฉลี่ย R0 ที่ประมาณ 2.2 อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถทำให้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกสองคนโดยประมาณ หากไม่มีมาตรการในการควบคุมการแพร่เชื้อ (ข้อมูลจาก CIDRAP)
  2. โรคระบาดทั้งสอง มีการแพร่เชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน กล่าวคือ เกิดจากการสัมผัสและสูดเอาละอองเสมหะ (droplets) ของผู้ติดเชื้อทางปากหรือจมูก เหมือนกับการแพร่เชื้อของไข้หวัด
  3. โรคระบาดทั้งสอง เกิดการระบาดรุนแรงจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ ไข้หวัดใหญ่สเปนเริ่มระบาดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการถอนกำลังทหารจำนวนมากกลับประเทศของตนเอง ส่วนโควิด-19 เริ่มระบาดอย่างรวดเร็วจากเครือข่ายการเดินทางที่เชื่อมโยงโลกของเราไว้โดยสายการบินต่าง ๆ ที่มีคนเดินทางกว่า 10 ล้านคนทุกวันก่อนการระบาด (ข้อมูลจาก Statista)
  4. โรคระบาดทั้งสอง ไม่มีวัคซีนป้องกันในช่วงที่กำลังมีการระบาด เครื่องมือหลักที่เมืองต่าง ๆ หรือภาครัฐ สามารถใช้ในการควบคุมสถานการณ์ระดับมหภาค จึงเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายเท่านั้น เช่น การส่งเสริมให้รักษาสุขอนามัย, การสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing), การกักตัว (quarantine), การสั่งปิดสถานที่ที่มีผู้คนชุมนุมจำนวนมาก เป็นต้น

มาตรการภาครัฐกับการต่อสู้กับโรคระบาด

เมื่อภาครัฐไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถระงับโรคระบาดนี้ได้ในระดับมหภาค (เช่น วัคซีน) ภาครัฐจึงต้องอาศัยเครื่องมือเชิงนโยบาย ซึ่งหัวใจหลักก็คือการสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทั้งนี้ ยังมีตัวแปรสำคัญที่ต้องพิจารณา ที่จะส่งผลต่อความมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ คือ

  • ภาครัฐเริ่มบังคับใช้มาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคมได้รวดเร็วเพียงใด หลังพบเคสของผู้ติดเชื้อในเมืองของตน?
  • ภาครัฐบังคับใช้มาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม นานเพียงใด?
  • ภาครัฐมีการลดความรัดกุมของมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม ระหว่างการระบาด หรือไม่?
  • ภาคประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม เพียงใด?

ข้อมูลจากเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา 4 เมือง ที่ภาครัฐของเมืองเหล่านี้เลือกตอบโต้วิกฤติไข้หวัดใหญ่สเปนด้วยมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม เราจะพบว่า เมืองที่เริ่มมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคมอย่างรวดเร็ว นานเพียงพอ และไม่ลดความรัดกุมของมาตรการก่อนเวลาอันเหมาะสม เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีที่สุด

A close up of a map

Description automatically generated
แผนภาพแสดงเส้นกราฟอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน ใน 24 สัปดาห์แรกจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน 1918 เทียบเคียงกับช่วงเวลาที่มีมาตรการภาครัฐเพื่อลดการแพร่เชื้อ ภาพและเนื้อหาแปลจาก National Geographic

เมืองฟิลาเดลเฟีย เป็นเมืองที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กลับมองความรุนแรงของโรคนี้ว่ามีผลกระทบน้อย และยืนยันการจัดพาเหรดเฉลิมฉลองให้เหล่าทหารจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใน 10 วันให้หลังหลังจากพบผู้ติดเชื้อ โดยมีผู้เข้าชมพาเหรดกว่า 200,000 คน จนกระทั่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก จึงจะเริ่มมาตรการลดการแพร่เชื้อด้วยการสร้างระยะห่างทางสังคม เมืองฟิลาเดลเฟียจึงเป็นเมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในช่วงเวลา 24 สัปดาห์แรกของการระบาด

aircraft hull
ภาพแสดงพาเหรดที่จัดในเมืองฟิลาเดลเฟียใน ค.ศ. 1918 ที่นำไปสู่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนที่รุนแรง พาเหรดนี้มีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากกว่า 200,000 คน แหล่งที่มาจาก Smithsonian Magazine

เมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ได้สำเร็จ อย่างเมืองซานฟรานซิสโกหรือเมืองเซนต์หลุยส์ อาจพบกับกรณีของ “คลื่นลูกที่สอง” ที่มีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากภาครัฐตัดสินใจลดความรัดกุมของมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมก่อนเวลาอันเหมาะสม สิ่งนี้อาจกำลังเกิดขึ้นในกรณีของโควิด-19 ในประเทศจีน ที่มีกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เพิ่มขึ้น หลังจากที่คำสั่งปิดเมืองต่าง ๆ ได้เริ่มลดความรัดกุมลง

เมืองนิวยอร์ก เป็นเมืองที่เริ่มมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมอย่างรวดเร็ว หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ ทำให้เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนได้ที่ดีสุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 452 รายต่อประชากร 100,000 คน เรียกว่าช่วยชีวิตคนได้มากถึง 40% เมื่อเทียบกับเมืองฟิลาเดลเฟียที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 748 รายต่อประชากร 100,000 คน

ผู้อ่านสามารถศึกษาผลลัพธ์ของมาตรฐานภาครัฐในเมืองอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้ที่บทความของ National Geographic ซึ่งให้ผลลัพธ์ในภาพรวมที่คล้ายคลึงกัน

เมืองที่เริ่มมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคมอย่างรวดเร็ว นานเพียงพอ และไม่ลดความรัดกุมของมาตรการก่อนเวลาอันเหมาะสม เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีที่สุด

บทสรุป

จากกรณีศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ค.ศ.1918 นั้น มาตรการภาครัฐเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการต่อสู้วิกฤติโรคระบาดในกรณีที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หัวใจหลักก็คือมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม ซึ่งอาจได้ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการบังคับใช้เมื่อพบผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ ระยะเวลาในการบังคับใช้ และความรัดกุมของมาตรการแม้พบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดลง

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือของเราประชาชนทุกคนในมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม ลดการเดินทาง ลดการไปสู่สถานที่ที่มีคนชุมนุมจำนวนมาก รักษาสุขอนามัยที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยชะลอการแพร่เชื้อของโควิด-19 นี้ ในระหว่างที่วัคซีนกำลังถูกค้นคว้าและวิจัยครับ

Papoj Thamjaroenporn

Former-Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at GBDi

© Big Data Institute | Privacy Notice