การออกแบบ Data Visualization ให้คนตาบอดสีสามารถเข้าใจได้ด้วย

ในการนำเสนอข้อมูลผ่านการทำ Data Visualization เรามักจะเห็นการใช้สีเพื่อสื่อถึงความหมายของตัวข้อมูล (ลองอ่าน เลือกแผนภาพอย่างไร) ซึ่งตัวเลือกที่นิยมใช้ตัวหนึ่งก็คือ การใช้สีเขียวใช้แสดงความเป็นบวก และใช้สีแดงใช้แสดงความเป็นลบ เพราะผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย แต่นี่อาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนักสำหรับคนบางกลุ่ม…
รู้หรือไม่ว่า ประมาณ 8% ของประชากรชาย และ 0.5% ประชากรหญิงทั่วโลกนั้นมีอาการตาบอดสี (Color-Blind) โดยเฉพาะในกลุ่มสีเขียวแดง คนกลุ่มนี้ (รวมถึงผู้เขียนเอง) จะไม่สามารถจำแนกสีเหล่านี้ได้ดีเท่าคนปกติ ทำให้ในการอ่านแผนภาพที่ใช้สีเขียวและแดงจะทำได้อย่างยากลำบาก แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรให้แผนภาพของเราสามารถเข้าใจได้โดยคนกลุ่มนี้? เรามาดูกันครับ (ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงตาบอดสีประเภทแดงเขียวเท่านั้น ยังมีตาบอดสีประเภทอื่น เช่น เหลืองน้ำเงิน หรือ ขาวดำ ซึ่งจะพบในอัตราที่น้อยกว่ามาก)

1. อย่าใช้สีเขียวพร้อมกับแดง แต่บางครั้งก็ใช้ได้นะ
นี่เป็นที่มาของหลักการที่กล่าวว่าไม่ควรใช้สีเขียวและสีแดงในแผนภาพเดียวกัน เพราะคนตาบอดสีสามารถจำแนกได้ยาก อย่างไรก็ตามเราสามารถใช้สองสีพร้อมกันได้บางครั้ง เช่น เมื่อแท่งกราฟสีเขียวอยู่คนละฝั่งกับสีแดงเสมอ เป็นเพราะว่าคนตาบอดสียังมองเห็นสองสีนี้เป็นคนละสีอยู่ แต่ถ้าสีเขียวและแดงปนกันเมื่อใดและมีการใช้หลายเฉดแล้วละก็ อาจจะเป็นงานที่ยากนิดนึงในการจำแนกสีเพื่อตีความข้อมูล

(ขวา) เขียวและแดงแยกกันอย่างชัดเจน แต่ละสีมีแค่เฉดเดียว – แยกได้อยู่
2. ใช้สีอื่นซะสิ แต่ก็ไม่ใช่แค่เขียวแดงเท่านั้นนะที่เป็นปัญหาสำหรับคน color-blind
จริงอยู่ที่คนตาบอดสีจำแนกเขียวแดงได้ลำบาก แต่ปัญหาของเราก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สองสีนี้ เพราะแทบทุกสีล้วนมีสีเขียวหรือแดงเป็นองค์ประกอบ ถ้ากล่าวให้ถูกคือเซลล์รับแสงสีเขียว และ เซลล์รับแสงสีแดง ซึ่งทำงานได้ไม่ดีในคนตาบอดสีเขียวแดง ก็ทำหน้าที่ในการรับสีอื่น ๆ เช่นกัน จากประสบการณ์ของผู้เขียน คู่สีเหล่านี้ต้องใช้ความยากลำบากในการจำแนก

ในขณะเดียวกันสีที่ contrast ได้ดีคือการใช้สีน้ำเงินคู่กับสีที่ไม่มีน้ำเงินเป็นองค์ประกอบ เช่น

ซึ่งอาจจะใช้ในการไล่เฉดสำหรับข้อมูลตัวเลข เช่น น้ำเงินสำหรับค่าบวก ส้มสำหรับค่าลบ ทำให้ยังอ่านสีได้ดีอยู่

3. ใช้ palette สีที่ color-blind friendly
สำหรับการใช้สีในการแบ่งหมวดหมู่ข้อมูล ยิ่งมีหลายหมวดหมู่ก็ต้องใช้สีเยอะ ทำให้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่าจะมีสีคู่ไหนที่จำแนกได้ลำบากหรือไม่ โชคดีที่ในหลาย ๆ โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างกราฟ เช่น Tableau หรือ แพคเกจ seaborn ใน python จะมี palette สีที่เป็น Color-blind friendly อยู่แล้วซึ่งจะเหมาะสมในการใช้แบ่งข้อมูลประเภทหมวดหมู่


4. ถ้าจำเป็นต้องใช้เขียวและแดงใน Data Visualization ล่ะ
หากสีขององค์กรเราเป็นโทนเขียวและแดง หรือผู้บริหารต้องการให้ใช้สีเขียวและแดง ก็ยังสามารถทำได้หากเราเลือกเฉดที่เหมาะสมของสีเขียวและสีแดง ตัวอย่างเช่นหากใช้เฉดสีเขียวอ่อนร่วมกับสีแดงเข้ม จะสามารถจำแนกสองสีนั้นได้อย่างไม่มีปัญหาสำหรับคนตาบอดสี เพราะความสว่างของสีที่ต่างกันจะทำให้จำแนกสีได้ง่ายขึ้นเป็นต้น

5. หลีกเลี่ยงการพึ่งพาสีสำหรับการสื่อสารข้อมูลใน Data Visualization
ตัวเลือกนี้นับตัวเลือกที่สำคัญอีกด้วยหากแผนภาพของคุณต้องถูกพิมพ์และถ่ายเอกสาร หากพิมพ์ออกมาเป็นขาวดำ สีที่ใช้ก็จะหมดความหมาย ตัวเลือกอื่นที่มีก็เช่น ใช้สัญลักษณ์ที่ต่างกันสำหรับ Scatter Plot หรือ ใช้การแรเงาแทนการใช้สีสำหรับความหายบวก ความหมายลบ

แหล่งที่มา
- http://www.color-blindness.com/
- https://www.tableau.com/about/blog/examining-data-viz-rules-dont-use-red-green-together
- https://seaborn.pydata.org/tutorial/color_palettes.html
เนื้อหาโดย นนทวิทย์ ชีวเรืองโรจน์ ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร