สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

การออกแบบ Data Visualization ให้ Accessible

Jun 22, 2022
รูปคนตาบอดใช้ Accessible Tool อย่าง Text Reader สำหรับ Smart Phone

จะแสดงผลข้อมูลที่ซับซ้อนให้สามารถเข้าถึงได้ (Accessible) ได้อย่างไร

เป็นที่รู้กันว่า Data Visualization เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เราสื่อสารข้อมูลที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิงให้กับผู้รับสาร  โดยการใช้ทัศนธาตุ (Visual Elements) ที่อยู่ในแผนภูมิ แผนภาพ หรือ แผนที่ ซึ่งช่วยให้สามารถทำความเข้าใจข้อมูลได้อย่างง่ายและรวดเร็ว (ตัวอย่างเช่น Visual Analytics การวิเคราะห์ด้วยภาพ) อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง Data Visualization ที่ถูกสร้างขึ้นมาก็อาจจะเข้าถึงไม่ได้สำหรับผู้รับสารทุกคน โดยเฉพาะผู้พิการหรือคนที่ดูผ่านอุปกรณ์ขนาดเล็ก เรียกได้ว่ามีอุปสรรคในการเข้าถึง (Accessible Barrier) สำหรับคนกลุ่มนี้

ใครบ้างที่ต้องอาศัย Accessibility

WRC ได้อธิบาย Accessibility ไว้ว่า หมายถึงการที่สิ่งที่เราพัฒนานั้นสามารถถูกใช้งานได้อย่างครบครันโดยคนพิการ เช่น

  • ทางการได้ยิน เช่น หูตึง หูหนวก
  • ทางสติปัญญา เช่น สมาธิสั้น
  • ทางประสาท เช่น ลมชัก (อาจถูกกระตุ้นโดยปัจจัย เช่น แสงกะพริบ)
  • ทางกายภาพ เช่น แขนพิการ
  • ทางการพูด เช่น ลิ้นไก่สั้น เป็นใบ้
  • ทางการมองเห็น เช่น ตาบอด (ใช้ Text Reader ในการอ่านข้อความแทน) ตาบอดสี

นอกจากผู้พิการแล้ว Accessibility ยังเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มอื่น เช่น

  • ผู้ที่ใช้ Smart Phone อุปกรณ์ขนาดเล็ก อุปกรณ์ที่ไม่มีแป้นพิมพ์หรือเมาส์
  • คนชรา
  • คนที่ พิการชั่วคราว เช่น แขนหัก แว่นสายตาหาย
  • คนที่เจอกับ สถานการณ์ที่ทำให้มีข้อจำกัด เช่น อยู่ที่ที่แสงจ้า หรือ ขณะนั้นไม่สามารถเปิดเสียงได้
  • คนที่อินเทอร์เน็ตช้า หรือ จำกัด Bandwidth

ตัวอย่าง Accessible Barrier

  • เน้นใช้รูปภาพหรือแอนิเมชัน โดยไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มคนที่ใช้ Text Reader
  • การเลือกใช้ชุดสีที่ไม่เหมาะกับคนตาบอดสีหรือมีปัญหาด้านการมองเห็น
  • ใช้องค์ประกอบที่อาศัยการโต้ตอบได้ (Interactive) ผ่าน Keyboard อาจจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้ที่พิมพ์ได้ลำบาก
  • Visualization มีขนาดที่ไม่เหมาะสม เช่น ตัวอักษรขนาดเล็ก

การทำให้ Data Visualization นั้น Accessible จึงแปลว่าการให้ผู้รับสารทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอโดยไม่พลาดอะไรไปเพราะข้อจำกัดต่าง ๆ

รูปหญิงชราใข้แว่นขยายดูโทรศัพท์มือถือ หนึ่งในกลุ่มคนที่มี Accessible Barrier

การสื่อสารข้อมูลให้ Accessible

ในการสื่อสารข้อมูลนั้น เราจะต้องสื่อให้ผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจข้อมูลได้ทั้งจากในบริบทของ Visualization เอง และจากทางเลือกอื่น ๆ ที่นำมาใช้ทดแทน Visualization ได้ในกรณีที่ผู้รับสารไม่สามารถเข้าใจ Visualization ซึ่งเราสามารถใช้

  • หัวข้อ และ คำอธิบาย
  • Alternative Text
  • Label

หัวข้อ และ คำอธิบาย

อย่าลืมใส่หัวข้อ (Title) และคำอธิบาย (Text Description) เพื่อให้ผู้ใช้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของ Visualization และ เมื่ออ่าน Visualization แล้วน่าจะได้ความรู้หรือข้อมูลอะไร

กราฟระหว่าง GDP per Capita กับ Ease of Business หัวข้อกราฟช่วยอธิบายว่าค่าทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กัน
หัวข้อ (Title) ที่เหมาะสมช่วยให้เข้าใจแผนภาพได้ง่ายขึ้น

Alternative text

alternative text ใน HTML text element สามารถนำมาใข้ในระบบอ่านข้อความ (Text Reader) ระบบ Search Engine หรือ รูปภาพที่โหลดไม่ขึ้น

ผู้อ่านบางท่านอาจจะใช้ Text Reader ซึ่งอาจจะต้องทราบว่าเขากำลังเจอกับ Visualization อะไรอยู่

Alternative text ควรประกอบด้วย

  • ประเภทของ Visualization
  • ประเภทของข้อมูล
  • คำอธิบายสั้น ๆ ว่า Visualization จะสื่ออะไร
กราฟวงกลมที่มี alternative text ซึ่งอธิบายสิ่งที่กราฟต้องการจะสื่อ
ตัวอย่างการใช้ Alternative Text สำหรับแผนภูมิ (จาก Microsoft)

ปกติแล้ว Alternative Text มักจะฝังอยู่ใน HTML tag สำหรับเว็บไซต์ที่ Text Reader จะสามารถอ่านได้ และหากอินเทอร์เนตช้าผู้อ่านก็จะสามารถเห็นข้อความนี้แทนรูปภาพได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์กับ Search Engine ในการค้นหารูปภาพอีกด้วย

Text Reader อ่าน Alternative Text ช่วยให้คนตาบอดสามารถเข้าใจรูปภาพได้

Label

ควร Label ข้อมูลโดยตรง แทนที่จะใช้ Legend แยกต่างหาก ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านที่ไม่สามารถใช้สีได้สามารถเข้าใจได้ด้วย และยังให้ผู้อ่านเข้าใจข้อมูลได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องกรอกตาไปมาระหว่างแผนภาพและ Legend

กราฟเส้นสองชุดแสดง GDP ต่อหัวในแต่ละปี กราฟที่มีคำอธิบาย Label โดยตรงจะเข้าใจได้ง่ายกว่ากราฟที่ใช้ Legend แยกออกมา
ใช้ Label โดยตรงทำให้เข้าใจง่ายกว่า Legend แยกออกมา

การใช้สีและลวดลายให้ Accessible

                ตาม Guideline ของ Web Content Accessibility Guidelines (WCAG 2.0) สีที่ใช้ควรมี Contrast ที่เหมาะสม และไม่ควรเป็นองค์ประกอบเพียงอย่างเดียวที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูล

Contrast

                สีที่ใช้ควรมี Contrast ที่เหมาะสม ตาม WCAG 2.0 AA or AAA color contrast accessibility standards รวมถึงสำหรับคนตาบอดสีด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Data Visualization สำหรับคนตาบอดสี (Color-Blind))

  • ตรวจสอบ Contrast เช่น โดยใช้ Inspection Tool ของ Web Browser สำหรับ Text Element ใน Website หรือ WebAIM: Contrast Checker ในการเทียบสี
  • ใช้เครื่องมืออย่าง Color Safe – accessible web color combinations มาช่วยในการออกแบบ
  • ใช้เครื่องมืออย่าง Coblis — Color Blindness Simulator ในการจำลองสิ่งที่คนตาบอดสีเห็น
Inspector Tool ใน Web Browser แสดงค่า Contrast ของข้อความกับพื้นหลัง ข้อความสีน้ำเงินเข้มบนพื้นหลังสีขาวได้คแนน Contrast 9.84 ซึ่งเหมาะสมแก่การใช้งานอย่าง Accessible
การตรวจสอบ Contrast ของสีตัวอักษร ใน Inspector tool ของ Web Browser

White Space

ช่องว่าง หรือ White Space สามารถช่วยให้ผู้อ่านจำแนกองค์ประกอบในกราฟได้ง่ายขึ้นและป้องกันการสับสนของสีและลวดลาย ในตัวอย่างกราฟด้านล่าง มีการใช้เส้นขาวมาแบ่งระหว่างแต่ละสีในกราฟ ซึ่งช่วยในการแยกสีต่าง ๆ ออกจากกันได้อย่างง่ายดาย ซึ่งช่วยให้กราฟของเรานั้น Accessible มากขึ้น

กราฟแท่งแสดงรายได้ใช้สรในการจำแนกภูมิภาค ใช้ White Space ระหว่างสีเพื่อช่วยในการจำแนกสีและเพิ่ม Accessibility
White Space (ขวา) เพียงเล็กน้อยก็ช่วยให้จำแนกสีได้ง่ายขึ้น

ใช้องค์ประกอบอื่นนอกจากสี

หากเราใช้สีเพียงอย่างเดียวในการสื่อสาร ไม่เพียงแต่คนตาบอดสีเท่านั้นที่จะเจอปัญหา หาก Visualization ถูกพิมพ์แจกจ่ายเป็นขาวดำก็จะเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน

  • ใช้รูปร่าง หรือ ลวดลาย ในการจำแนกองค์ประกอบนอกเหนือจากสี
  • มี Legend ที่เหมาะสมที่ช่วยอธิบายการใช้สี

Interaction และ Animation

Data Visualization ในยุคนี้มักจะมาพร้อมกับการโต้ตอบ (Interaction) หรือภาพเคลื่อนไหว (Animation) อย่างไรก็ตามหากใช้อย่างไม่ระวังก็จะทำให้เกิด Accessible Barrier ได้

  • Interaction ที่ใช้เมาส์ในการเล่น ควรจะสามารถเล่นได้ด้วยคีย์บอร์ดเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้แสงสีกะพริบที่อาจจะกระตุ้นอาการของโรคลมชัก

ไม่ควรนำข้อมูลสำคัญ เช่น Label หรือ Legend มาอยู่ใน Tooltip ที่จะแสดงเฉพาะเมื่อนำเมาส์มาวาง เพราะจะเป็นปัญหาสำหรับผู้อ่านที่ใช้ Text Reader หรือ คีย์บอร์ด หรือ อุปกรณ์อย่าง Smart Phone

แผนที่แสดงสถิติเวลาเลิกงานของแต่ละรัฐในสหรัฐฯ เมื่อนำเมาส์มาวางจะแสดงกราฟย่อยในลักษณะของ Tooltip
Interactive Tooltip ใน Data Visualization (จาก Tableau)

เนื้อหาโดย นนทวิทย์ ชีวเรืองโรจน์
ตรวจทานและปรับปรุงโดย อิสระพงศ์ เอกสินชล

แหล่งที่มา

Accessible data visualizations – UW–⁠Madison Information Technology (wisc.edu)

Nontawit Cheewaruangroj, PhD

ไม่พบข้อมูลตำเเหน่ง

© Big Data Institute | Privacy Notice