สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

วิธีการการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของคุณ

Oct 13, 2022
วิธีการการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของคุณ

จากบทวิเคราะห์ของ Harvard Business Review  โดยศาสตราจารย์ Benjamin Mueller ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัลที่ University of Bremen และผู้ช่วยวิจัยที่ Karlsruhe Institute of Technology ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกตกตะลึงที่พบว่าตนเองกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ (Digitalization) แต่ในปัจจุบันที่สถานการณ์เริ่มเป็นปกติ บรรดาบริษัทที่ยังคงไว้ซึ่ง Digitalization ในองค์กรก็ยังดำเนินธุรกิจแบบใหม่นี้ต่อไป ในขณะที่หลายคนกลับมาที่สำนักงานเริ่มรู้สึกว่าปณิธานในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเริ่มจางหายไป เมื่อพูดถึงตอนเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ มันชัดเจนมากว่าการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนต้องลงไปสู่เรื่องของ Digitalization แต่ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกลับไม่แน่ใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเช่นเดียวกับที่พวกเขาเผชิญก่อนหน้านี้

หัวใจของความไม่แน่นอนนี้คือคำถามง่ายๆ: ผู้นำองค์กรจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรจะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีจุดมุ่งหมายและยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การทำตามคำโฆษณาชวนเชื่อของเทคโนโลยี

รูปที่ 1 ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น (Uncertainty)

เบื้องหลังคำถามนี้ มีกลุ่มผู้นำด้านการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรจำนวนมากที่พยายามค้นหาว่าเทรนด์ล่าสุดของเทคโนโลยีนั้นมีความหมายอย่างไรสำหรับพวกเขา ตั้งแต่ AI และ Blockchain ไปจนถึงเทคโนโลยีควอนตัม ในขณะที่สังคมรู้สึกตื่นเต้นต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ในช่วงแรก เจ้าของธุรกิจต่างก็รู้ดีว่าเทรนด์ต่าง ๆ ที่ถูกเพยแพร่เหล่านี้จะต้องผ่าน “หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง” (Valley of Tears) หรือช่วงเริ่มต้นการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ที่ยังมองไม่เห็นคุณค่าของเทคโนโลยีและหลายโปรเจคต้องปิดตัวลงไปเพียงเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ มีเพียงไม่กี่เจ้าที่สามารถดึงตัวเองมาถึงจุดที่เทคโนโลยีที่นั้นกลายเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนนำเทคโนโลยีเริ่มสร้างความแตกต่างในประสิทธิภาพขององค์กร ตามหลักการของ Gartner Hype Cycle

หากต้องการให้วิธีการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน บริษัทต่าง ๆจะต้องคิดคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์และสิ่งที่กำลังทำอยู่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่หลายบริษัทมักจะมองข้ามสิ่งที่ควรคำนึงที่มักมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายบริษัททุ่มเททรัพยากรและให้ความสำคัญกับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของโครงการมากเกินไป

แนวทางหนึ่งในการรับมือกับความไม่สมดุลนี้ คือ ให้คิดว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยตลอดสามปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ Benjamin Mueller ได้ทำงานร่วมกับหลายสิบทีมที่ทำการเปลี่ยนแปลงนั้น พวกเขาเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพ การศึกษา การก่อสร้าง การเงิน และในหลากหลายขนาดของธุรกิจ ตั้งแต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศขนาดใหญ่

ในขณะที่แรงจูงใจและเป้าหมายของพวกเขาแตกต่างกัน ทีมงานได้แบ่งปันประสบการณ์ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ไม่ว่าจะเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของธุรกิจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัล (Digital Disruption) หรือเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ทางดิจิทัล ซึ่งช่วยให้พวกเขามองเห็นบริบทของเทคโนโลยีและเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะคาดหวังได้ดีขึ้น ในการทำงานข้ามทีมงานด้วยกัน เครื่องมือที่เป็นที่รู้จักและเรียบง่ายเพียงเครื่องมือเดียวที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้มองเห็นภาพรวมธุรกิจๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ Business Model Canvas หรือแผนภาพโมเดลธุรกิจนั่นเอง

Business Model Canvas คืออะไร

Business Model Canvas หรือการอธิบายองค์ประกอบของธุรกิจ 9 ส่วน พัฒนามาจาก Alexander Osterwalder และ Yves Pigneur ตั้งแต่ช่วงปลายยุคปี 2000s โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือองค์กรให้สามารถเริ่มต้นและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจ โดย Business Model Canvas นี้ใช้งานได้ง่ายและประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 9 ส่วนที่แต่ละจำเป็นสำหรับธุรกิจใด ๆ ซึ่งสามารถดูได้ในรูปที่ 1 เราสามารถอธิบายรายละเอียดคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • หัวใจสำคัญคือ คุณค่าของสินค้าและบริการ (Value proposition) ซึ่งมักจะเข้าใจกันว่าเป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งที่ตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าและสิ่งที่ลูกค้าได้รับจากการใช้สินค้าหรือบริการ
  • ทางด้านขวากลุ่มลูกค้าเป็นการทำความเข้าใจว่าใครเป็นลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจนำไปสู่การจัดกลุ่มลูกค้า (Customer Segments)  ระหว่างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships) และช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าต่าง ๆ (Channels) จะช่วยทำให้เห็นภาพว่าจะสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร สามารถรับฟังเสียงของลูกค้าได้อย่างไร และมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพวกเขาได้อย่างไร
  • ทางด้านซ้ายมือของ Business Model Canvas เป็นในส่วนของกระบวนการ (Key Activities) และทรัพยากรที่จำเป็น (Key Resources) ในการสร้างสินค้าและบริการ ทั้งนี้เราต้องพิจารณาถึงพันธมิตรที่สำคัญ (Key Partners) เช่น พันธมิตรเชิงกลยุทธ์หรือข้อเสนอเสริมที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจเรา เป็นต้น
  • ท้ายที่สุด Business Model Canvas ยังได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจ (Cost Structure) และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแหล่งรายได้ (Revenue Streams) ที่คาดการณ์ไว้
รูปที่ 2 Business Model Canvas

จาก Business Canvas สองสิ่งสำคัญที่ทำให้มันมีความเหมาะสมเป็นพิเศษในธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล คือ

  1. เครื่องมือนี้ทำให้เข้าใจถึงการมีปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างองค์ประกอบ โดยการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหนึ่งมักจะมีผลกระทบต่อทั้งหมด ถึงแม้ว่ามันทำหน้าที่เป็นรายการตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการมองข้ามองค์ประกอบหลักทั้งเก้า ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างรายได้ จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมหลักต้องได้รับการปรับโครงสร้างใหม่ การเน้นไปที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละองค์ประกอบเป็นเรื่องที่สำคัญในโปรเจคที่เกี่ยวข้องกับการทำ Digitalization ความสำเร็จของโปรเจคดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆจะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. แผนธุรกิจที่สมบูรณ์แบบนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดในชั่วข้ามคืน การสร้างแผนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยเสียงตอบรับจากลูกค้าและคอยปรับแต่งเปลี่ยนแผนธุรกิจไปเรื่อย ๆ เช่น ผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบฟีเจอร์น้อยที่สุด (Minimal Viable Prototype) เพื่อทดสอบตลาดโดยส่งเสริมให้กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยวิธีนี้ เราจะได้ทดสอบว่าองค์ประกอบที่ได้จากแผนธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมานั้นถูกต้องหรือไม่จากผู้มีส่วนได้เสียหลักกับธุรกิจของเราและกระแสเงินสดที่สร้างได้ และเพื่อดูว่าธุรกิจนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับปรุงรูปแบบธุรกิจหรือไม่ วิธีการนี้มีแนวความคิดมาจาก Lean startups การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการทดสอบดังกล่าวอาจเป็นทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ ปรับแต่งรูปแบบธุรกิจ หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในทีเดียว วิธีการคิดเดียวกันนี้สามารถนำไปใช้กับโครงการที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากหลายส่วน ทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์กรจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
รูปที่ 3 Lean Startup Cycle

วิธีการใช้ Business Model Canvas สำหรับ Digital Transformation

เช่นเดียวกับการสร้างรูปแบบธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม การจัดการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักที่หลายองค์กรเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่มีงบประมาณจำนวนมากในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ, ไม่สามารถดึงกลุ่มคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงาน, และไม่มีความสามารถในการสร้างหน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลแยกออกไป (Spin-off) แต่โชคดีที่การปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจของคุณสามารถหยิบส่วนสำคัญของแต่ละแนวทางมาประกอบเป็นแนวทางของคุณได้ การเข้าไปจัดการการเปลี่ยนแปลงระบบให้เป็นดิจิทัลอย่างแท้จริงนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การเข้าใจภาพรวมของเทคโนโลยีดิจิทัลว่าทำงานอย่างไร หรือว่าทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีที่แปลกตากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกในตอนนี้ต่างก็ยังสบสนว่าเราได้อะไรกลับมาจากการลงทุนเทคโนโลยีชิ้นนี้ไปหลังจากผ่านการลงทุนรอบใหญ่ในช่วงการระบาดไปเพิ่งผ่านพ้นไป มันมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเม็ดเงินที่บริษัทจะต้องลงทุนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาให้กลายเป็นรากฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร

1. Map out the current business model กำหนดรูปแบบธุรกิจในปัจจุบัน

เพื่อที่จะรู้ว่าคุณกำลังจะไปในทิศทางไหนและจะไปสู่จุดหมายยังที่ใด ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจว่าคุณอยู่ที่ไหน ลองเริ่มเขียนว่าแผนธุรกิจปัจจุบันคืออะไรตาม Business Model Canvas และพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 9 โดยละเอียดจะทำให้รากฐานในการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบดิจิทัลของธุรกิจของคุณแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ในกระบวนการนี้ สิ่งสำคัญยิ่งที่คุณต้องทำไม่เพียงแค่กรอกข้อมูลในช่องทั้งเก้า คุณยังต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ จากแบบฝึกหัดนี้อาจเผยให้เห็นความผิดปกติในธุรกิจปัจจุบันของคุณ

บริษัทที่พัฒนาและผลิตขาเทียมทางการแพทย์เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี เมื่อธุรกิจของเขาถูกบังคับให้ร่างรูปแบบธุรกิจปัจจุบัน พวกเขาตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับลูกค้าปลายทาง เช่น ผู้ป่วย จะถูกขั้นกลางโดยแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโดยตรง สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จำกัดความสามารถของบริษัทในการรับคำติชมที่สำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และคุณภาพจากลูกค้าปลายทางโดยตรงเท่านั้น แต่ยังจำกัดความสามารถของพวกเขาในการแจ้งผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเลือกเฉพาะที่สามารถเพิ่มเติมนอกเหนือจากความคุ้มครองจากประกันสุขภาพที่ผู้ป่วยมี

ในการทำแผนรูปแบบธุรกิจ บริษัทตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องเพิ่มยอดขายและกระบวนการสั่งซื้อเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางโดยตรงตั้งแต่เนิ่น ๆ ในการทำเช่นนั้น พวกเขาได้นำระบบจัดการการขายดิจิทัลแบบบูรณาการมาใช้งาน เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับลูกค้าและลงทุนในกระบวนการผลิต โดยอาศัยแบบจำลอง 3 มิติที่สามารถแชร์ทางออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย

2. Engage with the transformation opportunities มองหาโอกาสในการเปลี่ยนแปลง

คุณควรมองหาโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณสามารถระบุสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญ จากนั้นคุณสามารถเริ่มพัฒนาเปลี่ยนแปลงส่วนที่จำเป็นได้ทีละน้อย ในการทำงานของศาสตราจารย์ Benjamin Mueller กับทีมที่ต้องการทำ Digital Transformation หัวข้อที่สำคัญของการสนทนาคือการละทิ้งสถานะเดิมที่เป็นอยู่ (Status Quo) เพื่อให้เราสามารถจินตนาการว่าจะต้องเปลี่ยนอะไร ไม่ใช่จะเปลี่ยน(ของเดิม)อย่างไร ในขั้นตอนนี้มีหลายทีมต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์องค์กรมาช่วยในขั้นตอนนี้ อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ขั้นตอนที่สองนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นภายในการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียวแต่เป็นการทดลองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ หลาย ๆ ครั้งและผลกระทบนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความจำเป็น หลักการที่จะช่วยในการเปลี่ยนแปลงก็คือ ภายในทีมต้องการแบ่งการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ออกเป็นส่วนย่อย ๆ ที่สามารถจัดการได้ และเราสามารถตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ผลลัพธ์จากวิสัยทัศน์สอดคล้องกันกับผลการเปลี่ยนแปลงนั้น

ผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างเฉพาะทางระดับนานาชาติรายหนึ่งต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของเขากำลังแข่งขันภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคู่แข่งสามารถจัดหาเครื่องจักรที่ชาญฉลาดและเชื่อมต่อเครือข่ายได้มากขึ้น การทำงานโดยใช้วิธีการอธิบายองค์ประกอบของธุรกิจเก้าส่วน ทำให้บริษัทตระหนักได้ว่าความท้าทายที่พวกเขาเผชิญไม่ใช่ปัญหาทางด้านเทคโนโลยี จากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบของสินค้าที่บริษัทมีกับโมเดลธุรกิจ บริษัทจึงได้ทราบว่าบริษัทจำเป็นต้องมุ่งเน้นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาคุณค่าของสินค้า (Value Proposition) แทนที่จะทำสินค้าให้ดีกว่าคู่แข่งตรง ๆ ดังนั้นเป้าหมายของบริษัทจึงเปลี่ยนจากการผลิตภัณฑ์ที่ฉลาดกว่าคู่แข่งมาเป็นการทำความเข้าใจถึงความสำคัญในการเปลี่ยนคำจำกัดความของคุณค่าของสินค้าในรูปแบบใหม่แทน

รูปที่ 4 การพัฒนาคุณค่าของสินค้า (Value Proposition)

3. Derive the necessary changes เปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

เมื่อคุณร่างเป้าหมายในขั้นตอนที่สองแล้ว ขั้นตอนที่สามคือการเริ่มการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จนั้นถูกนำมาเปรียบเทียบกับการทำวงออเคสตราที่หมายถึงการสร้างวงดนตรีที่บรรเลงเพลงอันไพเราะมากกว่าที่จะเป็นวงดนตรีที่รวมเครื่องดนตรีรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน นอกเหนือจากการระบุการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังในการดูผลกระทบที่แผ่ขยายไปทั่วทั้ง Canvas เพราะเหตุนี้ การฝึกอบรมและการเพิ่มทักษะคนงานก็มีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลไม่แพ้กับการเลือกเครื่องมือและศึกษาผลกระทบของมันต่อธุรกิจคุณเลยทีเดียว

ในตัวอย่างข้อที่สองของบริษัทผลิตเครื่องมือที่กล่าวไปข้างต้น บทสนทนาภายในทีมหลังจากนั้นจึงมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาในส่วนอื่น ๆ ของ Business Model Canvas และวิธีการออกแบบแนวทางการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวม นอกเหนือไปจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโดยใช้ Business Model Canvas ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตามมา เช่น การเปลี่ยนแปลงของ John Deere ไปสู่การทำฟาร์มอัจฉริยะหรือบริษัท Caterpillar การให้ความสำคัญในการสร้างรายได้จากความต้องการของลูกค้า สิ่งเหล่านี้ที่ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการออกแบบการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลได้เริ่มขึ้น

การทำงานในขั้นตอนนี้จะส่งผลให้เกิดแผนงานที่เชื่อมโยงเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้ในขั้นตอนก่อนหน้าว่าเราจะเปลี่ยนอะไร ทำให้การเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับขั้นตอนก่อนหน้า เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยียังคงเป็นกุญแจสำคัญในการริเริ่มเหล่านี้ แต่จากมุมมองในฝั่ง Business Model Canvas การมีเครื่องมือที่แท้จริงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงระดับรองในแง่ของทรัพยากรหลักของธุรกิจของคุณ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความเข้าใจและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำได้ในตอนนี้ซึ่งแตกต่างออกไป ทีมงานส่วนใหญ่พบว่าการลงทุนในเทคโนโลยีที่ถูกต้องคือการระบุให้ได้ว่าเทคโนโลยีนั้นจะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมหลักใดของธุรกิจและสร้างผลกระทบมากเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในการสร้างสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า

4. Make sure you’ve hit your target ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้บรรลุเป้าหมายแล้ว

สุดท้าย ขั้นตอนที่สี่ที่ถือเป็นข้อเสริมจะทำให้แน่ใจว่าคุณได้บรรลุเป้าหมาย การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลต้องอาศัยการแตกงานเปลี่ยนแปลงขนาดจากงานขนาดใหญ่ให้กลายเป็นงานชิ้นย่อย ๆ และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไป การเฝ้าดูธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลงและการช่วยให้ธุรกิจไม่ตกอยู่ในภาวะชะงักงันจากความมั่นคงจอมปลอมที่หลอกคุณว่าบริษัทของคุณได้”เปลี่ยนแปลงแล้ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการปรับปรุงธุรกิจและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ทำให้คุณตระหนักว่าส่วนอื่น ๆ ของธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตาม ฉะนั้นการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก้าวนำหน้าคู่แข่ง

ตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากมายส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากลูกค้าที่ใช้บริการในร้านค้าของพวกเขามีจำนวนที่ลดลง แม้ว่าสิ่งนี้อาจถูกมองว่าเป็นปัญหาชั่วคราวที่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น ด้วยรูปแบบธุรกิจทำให้พวกเขาคิดอย่างครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับคุณค่าของสินค้าและบริการที่นำเสนอต่อผู้คนที่กำลัง”เดินทาง”และเร่งรีบ

ในกระบวนการนี้ ทีมงานตระหนักดีว่าแอปที่พวกเขาเปิดตัวไม่นานหลังจากการล็อกดาวน์ครั้งแรกที่อนุญาตให้ลูกค้าสั่งสินค้าล่วงหน้า เพื่อรับสินค้าในร้านอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจและวิถีการดำเนินงานของธุรกิจนี้ไปเป็นรูปแบบใหม่ รวมถึงแง่มุมต่าง ๆ เช่น การจัดวางร้านค้าและการเพิ่มประสิทธิภาพการสั่งสินค้าเก็บเข้าคลัง การมุ่งเน้นไปที่รูปแบบธุรกิจและคุณค่าหลักของสินค้าบริการของพวกเขาได้เปลี่ยนคำถามสำคัญจาก “เราจะทำอย่างไรกับเทคโนโลยีนี้” เป็น “เทคโนโลยีจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร” โดยปลดล็อกการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะเกิดขึ้นต่อ ๆ กันนั้น เกินกว่าช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัลที่มีอยู่เดิมไปมหาศาล

รูปที่ 5 เทคโนโลยีจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

หากธุรกิจของคุณกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาแนวทางในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจมาสู่ดิจิทัล การร่างองค์ประกอบทางธุรกิจทั้ง 9 ส่วนใน Business Model Canvas อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองในทางที่ดี ซึ่งจะช่วยให้คุณจดจ่อกับลำดับความสำคัญของธุรกิจและผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แทนที่จะไปโฟกัสที่เทรนด์ต่าง ๆ ของเทคโนโลยี หากการเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้องค์กรเข้าสู่การทำงานแบบดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องจะต้องปรากฏใน Canvas และองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งเก้าก่อนที่เราจะลงมือปฏิบัติจริง ๆ

บทความนี้ถูกแปลมาจาก How to Map Out Your Digital Transformation

เนื้อหาโดย นภัสสร พิทักษ์กชกร
ตรวจทานและปรับปรุงโดย อนันต์วัฒน์ ทิพย์ภาวัต

Napatsorn Pitakkotchakorn

Senior Data Scientist at Big Data Institute (Public Organization), BDI

© Big Data Institute | Privacy Notice