Computational Psychology ศาสตร์ใหม่เรียนรู้ใจจากข้อมูล

Computational Psychology คืออะไร
คำว่า Computational Psychology ถึงแม้ว่าราชบัณฑิตจะบัญญัติภาษาไทยไว้ว่า จิตวิทยาคอมพิวเตอร์ [1] แต่ผู้เขียนคิดว่าความหมายที่สื่อความได้ดีกว่าน่าจะเป็น จิตวิทยาเชิงคำนวณ คือ การศึกษาจิตวิทยาด้วยกระบวนวิธีการคำนวณและวิเคราะห์จากข้อมูลจำนวนมากต่าง ๆ
ที่ผ่านมา การศึกษาด้านจิตวิทยาจะใช้การเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามหรือบันทึกจากการทดลอง แล้วนำสถิติมาใช้ในการแปลผลข้อมูลเหล่านั้น ด้วยความที่การแจกแบบสอบถามและการทดลองใช้เวลามาก ต้นทุนสูง ข้อมูลที่เก็บได้จึงมีจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งส่วนใหญ่ผู้ถูกศึกษายังจำกัดอยู่ในประชากรกลุ่มเล็ก บ่อยครั้งผลการศึกษาที่ได้มานั้นมักปรับใช้ได้กับบางบริบทเท่านั้น ในวงการวิชาการมีคำกล่าวว่างานวิจัยด้านจิตวิทยาในยุคก่อนนั้นมีความ WEIRD ซึ่งย่อมาจาก Western-Educated-Industrialized-Rich-Democratic เรียกอีกอย่างว่าเป็นงานวิจัยที่ทำกับ ทำโดยและทำเพื่อชาวตะวันตกในประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยและอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ทำให้เกิดคำถามว่าผลการศึกษาเหล่านั้นสามารถปรับใช้กับคนได้ทั่วโลกจริงหรือ
ทว่าในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และความก้าวหน้าด้าน Big Data และ ปัญญาประดิษฐ์ AI ต่าง ๆ (ในบทความนี้ขอกล่าวรวม Machine Learning เป็นส่วนหนึ่งของ AI) ทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ Crowdsourcing ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย หรือจะเป็นการเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมดิจิทัลที่สามารถบันทึกได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาของอาสาสมัครวิจัย อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ผลจากข้อมูลจำนวนมาก ด้วยกรรมวิธีการที่ซับซ้อนกว่าเดิมจึงทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกซึ่งไม่สามารถทำได้ในสมัยก่อน
ตัวอย่างงานวิจัยและการประยุกต์ใช้ Computational Psychology สุดปัง
เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าวิทยาการทางคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมต่าง ๆ จะเอามาใช้ศึกษาจิตใจคนได้อย่างไร จึงขอยกตัวอย่างการใช้ศาสตร์แขนงนี้ทั้งในงานวิจัยและที่อาจพบเจอในชีวิตประจำวัน
งานวิจัยที่ผู้เขียนคิดว่าพลาดไม่ได้เลย และเป็นงานวิจัยชิ้นที่ทำให้ผู้เขียนพาตัวเองเข้าสู่วงการนี้ คือการที่ข้อมูลเพจ Facebook ที่เราไปกดถูกใจ (Facebook Likes) สามารถบ่งบอกลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง รวมไปถึงลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้งห้า (Big Five Personality Traits) สถานะโสดหรือมีแฟน รวมถึงพฤติกรรมทางด้านอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาเสพติด เป็นต้น [2]

โดยจากผลการวิเคราะห์ของกราฟในด้านบนแสดงให้เห็นว่า ความแม่นยำในด้านเชื้อชาติมีความแม่นยำมากที่สุด มากถึง 95% ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ระหว่างคอเคเชียน (คนผิวขาว) และแอฟริกันอเมริกัน [2]
นอกจากนี้อัลกอริทึม AI ยังสามารถใช้ข้อมูล Facebook Likes ของเราประเมินบุคลิกภาพของตัวเราได้ดีกว่าคนรู้จัก เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งคู่สมรสด้วยซ้ำ [3] แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมของเราในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะในโลกโซเชียล เมื่อนำมารวมกับเทคโนโลยีการคำนวณสมัยใหม่สามารถทำให้เรารู้จักตัวเราเองได้ดีกว่าการใช้มนุษย์เป็นผู้ประเมินเสียอีก
อย่างกราฟด้านล่างนี้ก็เป็นผลลัพธ์จาก [3] ซึ่งเป็นการแสดงผลการวิเคราะห์ที่เทียบความแม่นยำในการตัดสินบุคลิกภาพโดยใช้คอมพิวเตอร์ และจำนวน Facebook Likes โดยเส้นสีแดงที่มีความหนากว่าเส้นอื่น ๆ นั้น แสดงถึงความแม่นยำเฉลี่ยของลักษณะบุคลิกภาพทั้งห้าที่ถูกวิเคราะห์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

การทราบลักษณะบุคลิกภาพเฉย ๆ อาจเป็นเพียงเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อรายบุคคลเท่านั้น แต่ว่างานวิจัยที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลนี้ สามารถทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการแพทย์ได้ เช่น การวิเคราะห์โรคซึมเศร้าจากรูปโปรไฟล์และการใช้ภาษาบนสเตตัสโซเชียลต่าง ๆ [4–6] ในประเทศไทยเองก็มีแอปพลิเคชันคัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้าโดยใช้ AI สามารถเข้าใช้ได้จากแอปพลิเคชันหมอพร้อม เป็นเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบาภาระของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา และทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหานี้เข้าถึงความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นมาก [7] นอกจากนี้ ในภาคธุรกิจยังใช้การวิเคราะห์อารมณ์จากการใช้ภาษาหรือใบหน้า มาช่วยในกลยุทธ์ทางการตลาดและการรับสมัครงาน เช่น การวิเคราะห์ความประทับใจของลูกค้าจากรีวิว [8] หรือการวิเคราะห์อารมณ์และคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้สมัครงานจากการแสดงออกทางใบหน้าในช่วงที่สัมภาษณ์งาน [9] เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งงานวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเองที่ศึกษาว่าคนแต่งงานกันหน้าเหมือนกันมากขึ้นหรือไม่ โดยใช้ AI เป็นตัววิเคราะห์ความเหมือนของใบหน้า ก็เป็นงานวิจัยน่ารัก ใส ๆ อีกงานหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากศาสตร์นี้
ฟัง ๆ แล้วทำไมดูน่ากลัวจัง
การที่ AI และ Big Data สามารถรู้จักตัวเราได้ดีทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ต้องการบอกอะไรเลยเป็นเรื่องที่น่ากลัว ลองคิดดูหากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ข้อมูลเหล่านี้ไปแล้วออกแบบเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์จากสภาพจิตใจของเรา เช่น การหลอกหาประโยชน์ หรือการโน้มน้าวใจให้เข้ากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (เช่นกลุ่มทางการเมือง ศาสนา ลัทธิ)
ในปี 2018 มีงานวิจัยออกมาว่า AI สามารถบ่งบอกเพศสภาพของเราได้ดีกว่ามนุษย์คนอื่น [10] ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมาก และเกิดความขัดแย้งในวงการศาสนาหัวรุนแรง เพราะความสามารถนี้หมายความว่า องค์กรใด ๆ ที่ไม่ประสงค์ดี หรือไม่ตระหนักรู้สามารถใช้เทคโนโลยีนี้สร้างความไม่เป็นธรรมต่อเพศสภาพบางกลุ่มได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องฉาวโฉ่ของบริษัท Cambridge Analytica ที่ถูกเปิดเผยในปี 2018 เช่นกัน ว่าได้ใช้ข้อมูลจาก Facebook ไปทำการวิเคราะห์ที่ไม่โปร่งใสหลายรายการ เช่น การช่วยเหลือการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และการรณรงค์โหวตออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของสหราชอาณาจักรในปี 2016 [11]
จะเห็นได้ว่า เหรียญย่อมมีสองด้าน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีย่อมมากับภัยมืดเสมอ ขึ้นกับผู้ใช้เทคโนโลยีว่ามีสติสัมปชัญญะและจริยธรรมมากแค่ไหน แต่ต้องขอบคุณข่าวฉาวเหล่านี้ ที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีและโซเชียลยักษ์ใหญ่รวมถึงสังคมในวงกว้างให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมากขึ้นมาก ๆ ปัจจุบันการจะนำข้อมูลจากโซเชียลไปใช้มีความรัดกุมมากขึ้น (สร้างความลำบากให้นักวิจัยผู้หวังดีมากขึ้นเช่นกัน) รวมไปถึงกฎหมายอย่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ในไทย หรือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) ก็กระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวในการรักษาข้อมูลของตนเองไม่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ให้เกิดโทษ
หรือแม้แต่คำถามที่ผู้เขียนมักได้รับเวลาเล่างานที่ทำให้ผู้คนฟัง ว่า “อ้าว นี่คือการดูโหงวเฮ้งเองนี่” แล้วต่อไปเราจะไม่ตัดสินคนจากหน้าตาเพียงอย่างเดียวหรือ ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าจริง ๆ แล้วการประเมินบุคลิกภาพจากใบหน้านั้นถ้าจะเรียกให้ง่ายก็สามารถเรียกว่าการดูโหงวเฮ้งได้เหมือนกัน แต่ว่าความแม่นยำนั้นไม่ได้สูงมาก นั่นคือ เราไม่สามารถใช้ AI ตัดสินลักษณะนิสัยของผู้อื่นได้จากใบหน้าได้นั่นเอง
รู้เท่าทันและใช้ให้เกิดประโยชน์ [ต่อส่วนรวม]
ในเมื่อศาสตร์แห่ง Computational_Psychology ได้แสดงทั้งความน่าอัศจรรย์และความน่าสะพรึงกลัวต่อมนุษยชาติออกมาแล้ว คำถามคือ แล้วเราในฐานะผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ จะทำตัวอย่างไรต่อไป
ผู้เขียนมองว่า ภัยร้ายที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรู้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราและตัวผู้อื่นได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากนี้การที่เรารู้ถึงสิ่งร้าย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นทำให้ตัวเราและสังคมตื่นตัวในการระมัดระวังและปกป้องตนเองและผู้อื่น ย่อมดีกว่าการใช้ชีวิตสวยงามไปเรื่อย ๆ ภายใต้ความเขลาอันแสนสุข (Blissful Ignorance) แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องดีมากเรื่องหนึ่งของศาสตร์แขนงนี้ คือการที่เรารู้ว่าข้อมูลพื้น ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดทิฐิและอคติได้ จะเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้เราปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งดีกว่าการปล่อยผ่านให้เราตัดสินใจด้วยกลไกทางความคิดที่เราไม่รู้ตัว
นอกจาก Computational_Psychology แล้ว ยังมีศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันอื่น ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์และการคำนวณศึกษามนุษย์และสังคม เรียกรวมกันว่า Computational_Social Science หรือสังคมศาสตร์เชิงคำนวณนั่นเอง เป็นสาขาวิชาที่มาแรงในทศวรรษนี้ ทว่า ผู้เขียนคงฝากไว้เท่านี้ให้ผู้อ่านหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองจากแหล่งอื่น ๆ ต่อไป
แหล่งอ้างอิง
- https://coined-word.orst.go.th
- Kosinski, M., Stillwell, D., & Graepel, T. (2013). Private traits and attributes are predictable from digital records of human behavior. Proceedings of the national academy of sciences, 110(15), 5802–5805.
- Youyou, W., Kosinski, M., & Stillwell, D. (2015). Computer-based personality judgments are more accurate than those made by humans. Proceedings of the National Academy of Sciences, 112(4), 1036–1040.
- Liu, T., Ungar, L. H., Curtis, B., Sherman, G., Yadeta, K., Tay, L., Eichstaedt, J. C. & Guntuku, S. C. (2022). Head versus heart: social media reveals differential language of loneliness from depression. npj Mental Health Research, 1(1), 1–8.
- Liu, T., Meyerhoff, J., Eichstaedt, J. C., Karr, C. J., Kaiser, S. M., Kording, K. P., … & Ungar, L. H. (2021). The relationship between text message sentiment and self-reported depression. Journal of Affective Disorders.
- Guntuku, S. C., Preotiuc-Pietro, D., Eichstaedt, J. C. & Ungar, L. H. (2019). What Twitter Profile and Posted Images Reveal about Depression and Anxiety. In Thirteenth International AAAI Conference on Web and Social Media (ICWSM).
- https://www.chula.ac.th/highlight/75794/
- https://www.yelp.com/dataset
- https://www.inc.com/minda-zetlin/ai-is-now-analyzing-candidates-facial-expressions-during-video-job-interviews.html
- Wang, Y., & Kosinski, M. (2018). Deep neural networks are more accurate than humans at detecting sexual orientation from facial images. Journal of personality and social psychology, 114(2), 246.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Facebook%E2%80%93Cambridge_Analytica_data_scandal
เนื้อหาโดย ดร. พิณนรี ธีร์มกร
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ดวงใจ จิตคงชื่น