สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

10 เทรนด์ AI กับธุรกิจ e-Commerce (AI in e-Commerce) ในปี 2023 ที่น่าจับตามอง

Jan 10, 2023
AI in e-Commerce
10 เทรนด์ AI กับธุรกิจ e-commerce (AI in e-Commerce) ในปี 2023 ที่น่าจับตามอง

ใกล้จะเริ่มต้นปี 2023 กันแล้ว ถ้าเราลองมองไปที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับ AI ในปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า AI เดินทางไปกับพวกเราเรื่อย ๆ ในหลายอุตสาหกรรมเลย ซึ่งบทความก่อนหน้านี้เราได้มีการเล่าถึง AI ในอุตสาหกรรมสายการบินในปีที่ผ่านมาไปบ้างแล้ว ในหัวข้อที่ว่า 10 หนทางที่สายการบินนำ AI และวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  หากใครสนใจลองตามไปอ่านกันได้เลย และในส่วนของบทความนี้เราจะมาเล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งธุรกิจที่ AI ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้ธุรกิจไปได้ไกลขึ้นนั้นก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับ e-commerce นั้นเอง มาดูกันว่า AI จะเข้ามามีอิทธิพลอะไรกับธุรกิจนี้บ้าง รวมถึงมาอัปเดตเทรนด์ในปี 2023 กันว่า AI มีบทบาทอะไรในธุรกิจ e-commerce  กันบ้างในหัวข้อ 10 เทรนด์ AI กับธุรกิจ e-commerce ในปี 2023 ที่น่าจับตามอง (AI in e-Commerce)


สถิติที่สำคัญของการนำ AI มาใช้กับ e-commerce (AI in e-Commerce)

  • จากข้อมูลของ Gartner แสดงให้เห็นว่าภายในปี 2023 องค์กรส่วนใหญ่ที่ใช้ AI ในด้านการค้าดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพอย่างน้อย 25% ในด้านต่าง ๆ เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า รายได้โดยรวม และประสิทธิภาพด้านต้นทุน เป็นต้น
  • จากรายงานการสำรวจโดย McKinsey เน้นว่า AI กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตุได้จาก 56% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจรายงานว่ามีการใช้ AI ในฟังก์ชันอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และในรายงานฉบับเดียวกันเน้นว่าเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจชี้ให้เห็นว่าการลงทุนของบริษัทในด้าน AI จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • E-commerce เป็นผู้นำในการนำ AI มาใช้ในปี 2022 และ 84% ของธุรกิจ e-commerce กำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อนำวิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับ AI มาใช้ในธุรกิจของตัวเอง
  • คาดว่าตลาดเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในการสนทนา เช่น Chatbot e-commerce จะเติบโตเป็น 13.9 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 นอกจากนี้ Chatbot e-commerce ยังสามารถลดเวลาในการแก้ปัญหาที่มาจากการสอบถามของลูกค้าจากที่เฉลี่ยอยู่ที่ 38 ชั่วโมงเหลือเพียง 5.4 นาที และมันยังช่วยลดต้นทุนด้านการบริการลูกค้าได้มากถึง 30%
  • สำหรับ Amazon นั้น พวกเขาแสดงให้เห็นว่าสามารถเพิ่มยอดขายประจำปีของบริษัทขึ้นอีก 35% ผ่านการใช้เครื่องมือให้คำแนะนำที่สร้างขึ้นมาจาก AI ด้วยเช่นกัน

ประโยชน์ของการนำ AI มาใช้ใน e-commerce (AI in e-Commerce)

  • ช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายในตลาดได้ดี เนื่องจาก AI และการเรียนรู้ของเครื่องสามารถเข้ามาช่วยให้เข้าใจผู้ใช้งานและนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน อีกทั้งยังช่วยสร้างกระบวนการขายที่มีประสิทธิภาพและราบรื่นยิ่งขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และข้อมูลจากการโต้ตอบกับลูกค้าก่อนหน้านี้ ทำให้สามารถส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ ออกไปได้ รวมถึงยังช่วยรักษาลูกค้าให้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแบรนด์นั้น ๆ ต่อไป
  • ช่วยในส่วนของการทำงานซ้ำ ๆ ให้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อให้ร้านค้าออนไลน์สามารถทำงานได้โดยไม่มีปัญหาและง่ายขึ้น เช่น การสนับสนุนลูกค้าระดับล่าง ตัวเลือกส่วนลด การออกใบแจ้งหนี้ การตลาดผ่านอีเมล และอื่น ๆ
  • ด้วยระบบอัตโนมัติที่ครอบคลุม ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง

หลังจากที่เราพอจะเห็นภาพแล้วว่า AI จะเข้ามามีบทบาทและมีประโยชน์กับธุรกิจ e-commerce อย่างไร คราวนี้เราลองมาดูกันว่า 10 เทรนด์ AI กับธุรกิจ e-commerce ในปี 2023 ที่น่าจับตามองจะมีอะไรกันบ้าง ดังนี้

คำแนะนำการซื้อสินค้าที่ตรงกลุ่มตรงใจ

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะได้เห็น AI ที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง AI จะใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อเสนอคำแนะนำผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล จากพฤติกรรมของลูกค้าในอดีตและโปรไฟล์ลูกค้าที่คล้ายคลึงกัน  AI จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจ e-commerce สามารถมอบประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวให้กับลูกค้าแต่ละคนได้

“อัลกอริทึมจะพิจารณารูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น ความถี่ในการเข้าดูสินค้าประเภทต่าง ๆ ประวัติการซื้อครั้งก่อน และประวัติการค้นหา จากนั้นจะประมวลผลและให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดโดยอิงจากข้อมูลผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงคำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ตรงกลุ่มตรงใจ แคมเปญการตลาด การกำหนดราคา และส่วนลดด้วยเช่นกัน”

การซื้อสินค้าด้วยคำสั่งเสียง

ผู้ช่วยด้านคำสั่งเสียงอัจฉริยะ เช่น Alexa, Siri และ Google Assistant กลายเป็นชื่อที่ถูกใช้เป็นประจำในครัวเรือนของสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคเกือบ 32% เป็นเจ้าของลำโพงอัจฉริยะ ซึ่งจำนวนนี้การเป็นเจ้าของจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป โดยเราจะเห็นผู้ช่วยด้านคำสั่งเสียงเหล่านี้ถูกรวมเข้ากับแพลตฟอร์ม e-commerce ได้อย่างราบรื่นมากขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะเห็นจำนวนผู้ช่วยด้านคำสั่งเสียงที่เพิ่มขึ้น โดยจะเป็นการนำโมเดลภาษาที่มีประสิทธิภาพมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและแม่นยำยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

แบรนด์และผู้ค้าปลีกจะมีการเริ่มใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์โดยการใช้ AI ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ปรับปรุงการจัดการแบ่งประเภทสินค้าต่าง ๆ ได้โดยการวิเคราะห์ว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นที่ต้องการหรือผลิตภัณฑ์ใดไม่เป็นที่นิยม พวกเขาจะได้รับข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้เพื่อมุ่งเน้นในส่วนของการขาย ส่วนลด และโปรโมชัน นอกจากนั้นพวกเขาจะใช้ AI เพื่อคาดการณ์แนวโน้มที่ละเอียดยิ่งขึ้นตามการติดแท็กของผลิตภัณฑ์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้แบรนด์นำเสนอประสบการณ์การชอปปิ้งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าได้

พัฒนาระบบการป้องกันการฉ้อโกง

เนื่องจากอาชญากรรมทางไซเบอร์และการละเมิดข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจึงมีการพัฒนา เช่น แพลตฟอร์มป้องกันการฉ้อโกงด้วย AI บนคลาวด์ และระบบปรับดุลการปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback correction platform) สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาตรวจจับคำสั่งซื้อปลอมหรือที่อยู่ปลอมได้โดยอัตโนมัติ ความสามารถของ AI ในการแยกแยะการซื้อที่ถูกหรือผิดกฎหมายได้อยากมีประสิทธิภาพจะช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ พึ่งพาการป้องกันการทุจริตผ่าน AI กันมากขึ้นเรื่อย ๆ

การซื้อของผ่าน Metaverse

ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปซื้อของด้วยตนเองเพื่อดูว่าเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรอีกต่อไป ในเมื่อปัจจุบันแบรนด์ต่าง ๆ สามารถใช้ Visual AI, Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสมือนจริงได้อย่างง่ายดาย โดยเทคโนโลยีทั้ง 3 แบบที่กล่าวมาข้างต้นถูกนำมารวมกันไว้ในสิ่งที่เรียกว่า Metaverse ซึ่งความน่าดึงดูดของ Metaverse นี้ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีมากมายเช่น Microsoft, Meta, Nvidia, Roblox และเดิมพันครั้งใหญ่กับมัน

การค้นหาภาพอัจฉริยะ

การมองเห็นของคอมพิวเตอร์ (Computer Vision) เป็นส่วนย่อยของ AI ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถมองเห็นและตีความโลกรอบ ๆ ตัวได้ ซึ่งจะช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและสามารถดึงข้อมูลจากภาพและวิดีโอได้ดียิ่งขึ้น โดยหลักการทำงานจะมาจากการค้นหาด้วยภาพ ซึ่งด้วยวิวัฒนาการต่าง ๆ จะทำให้นักชอปปิ้งสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยใช้การค้นหาด้วยภาพขั้นสูง สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ซื้อได้รับประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติและสะดวกมากขึ้น

การรวม AI เข้ากับบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM)

ผู้ค้าปลีกจะสามารถสร้างกระบวนการขายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการรวม AI เข้ากับการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าของพวกเขา การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะทำให้วงจรการขายทั้งหมดคล่องตัวขึ้น โดยผู้ค้าสามารถติดต่อกับลูกค้าในเวลาและบนแพลตฟอร์มที่เหมาะสม ซึ่ง AI ที่โต้ตอบด้วยการใช้เสียงจะเข้ามาช่วยตอบคำถามของลูกค้าและแก้ปัญหาของลูกค้าในขณะที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ด้วย

การแท็กสินค้าอัตโนมัติ

AI จะเข้ามาพิสูจน์ว่ามันมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการติดแท็กสินค้าในแคตตาล็อก ตัวอย่างเช่น เพื่ออธิบายคุณสมบัติของแจ็คเก็ตระบบสามารถเข้ามาช่วยติดแท็กคำว่า “สีน้ำเงิน” “แขนยาว” “หนัง” และอื่น ๆ ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นกระบวนการที่ช่วยประหยัดเวลาและรวดเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก นอกจากนี้การติดแท็กสินค้าอัตโนมัตินี้ยังมีประโยชน์มากสำหรับลูกค้าที่ต้องการค้นหาด้วยข้อความหรือภาพ และระบบจะสามารถให้คำแนะนำที่ตรงเป้าหมาย รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้านั้นเอง

การพยากรณ์ความต้องการซื้อและการขาย

ผู้ค้าปลีกในปัจจุบันมักจะต้องการวางแผนเกี่ยวกับการจัดการสินค้า โดยการใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์รวมถึงข้อมูลย้อนหลัง ซึ่ง AI สามารถเข้ามามีบทบาทในการทำงานในส่วนนี้ได้ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพยากรณ์ความต้องการซื้อและต้องการขาย โดย AI จะเข้ามาช่วยลดเวลาในการประมวลผล รวมถึงช่วยให้ผู้ใช้ไม่ประมวลผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อน ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ค้าปลีกมีข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจของพวกเขามากขึ้นนั้นเอง

กระบวนการในคลังสินค้าแบบอัตโนมัติ

การใช้ AI และหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภายในคลังสินค้าจะช่วยลดต้นทุนของการดำเนินการด้วยตนเองรวมถึงช่วยประหยัดเวลาในการจัดการสินค้าที่เหลืออยู่ภายในคลังสินค้าได้ด้วย โดยในปี 2023 และปีถัด ๆ ไป เราจะได้เห็นหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Amazon ได้มีการใช้หุ่นยนต์ที่เกิดมาจาก AI เพื่อให้สามารถจดจำ หยิบ บรรจุหีบห่อ และแจกจ่ายสิ่งของได้เร็วกว่าที่พนักงานมนุษย์ทำได้

ท้ายที่สุดแล้ว…

จากสถิติและประโยชน์ต่าง ๆ ของ AI ต่อ e-commerce ที่เราได้เล่ามาข้างต้น ทำให้เห็นว่า AI กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญของ e-commerce อย่างรวดเร็วและไม่มีใครปฏิเสธได้ ทั้งในด้านของการบริการลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงในด้านของเจ้าของธุรกิจเองที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงรวมถึงปีถัด ๆ ไปในอนาคต เราคาดว่า AI จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเป้าหมายทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นนั้นเอง

เนื้อหาจากบทความ 10 Ways Airlines Use Artificial Intelligence and Data Science to Improve Operations
แปลและเรียบเรียงโดย จุฑาภรณ์ วิภัชภาคไพบูลย์
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร

Juthaporn Vipatpakpaiboon

Data Scientist at Big Data Institute (Public Organization), BDI

© Big Data Institute | Privacy Notice