19 กรกฎาคม 2567, กรุงเทพฯ – สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI จัดหลักสูตร “ผู้นำยุคใหม่ พลิกโฉมธุรกิจด้วย Big Data และ AI” (LEAD : Transformational Leadership with Big Data and AI) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ เพื่อมุ่งปลดล็อกศักยภาพผู้นำยุคใหม่ สู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกทุกมิติทาง Big Data & AI พร้อมถอดบทเรียนจากตัวอย่างการใช้งานจริงของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคการสร้างความเชื่อมั่น และการนำ Big Data & AI ไปปรับใช้ในองค์กรสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

สำหรับช่วงแรก BDI ระดมผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data & AI ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Data Driven Decision for Executives” นำทัพโดย นางวรพิชญา ระเบียบโลก ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวถึงบทบาทหลัก คือการดูแล Data Science ของแต่ละฝ่ายงานที่มีข้อมูลขององค์กร ซึ่งเข้าไปให้คำปรึกษาพร้อมรับฟังปัญหา และโจทย์ที่หน่วยงานรัฐต้องการแก้ไข โดยต้องดูข้อมูลในองค์กรนั้น ๆ มาประกอบการออกแบบก่อนจะนำมาวิเคราะห์ แสดงผลออกมาผ่านรูปแบบ Dashboard หลังจากนั้นจะทราบว่าข้อมูลที่หน่วยงานมีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ทาง BDI ยังเข้าไปสนับสนุนการตั้งศูนย์นวัตกรรมข้อมูล เป็นสื่อกลางในการสื่อสารปิดช่องว่างระหว่างฝ่าย IT กับฝ่ายวิจัยข้อมูล ทำให้การดำเนินงานภายในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น

ต่อด้วย ดร.อัญชลิสา แต้ตระกูล (รักษาการ) ผู้อำนวยการโครงการ Travel Link กล่าวว่า สำหรับโครงการ Travel Link คือ แพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลท่องเที่ยวให้ถึงกัน ผ่าน www.travellink.go.th ภายใต้ความร่วมมือของรัฐและเอกชน โดยเริ่มจากความต้องการของแต่ละฝ่าย แล้วมองหาช่องทางของข้อมูลที่จะมาตอบโจทย์ให้กับทุกภาคส่วน ทำให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้านเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อขยายขีดความสามารถ และเพิ่มการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะมีแดชบอร์ดข้อมูลท่องเที่ยวมากกว่า 150 แดชบอร์ด ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ


พร้อมปิดท้ายช่วงแรก กับนายปฏิภาณ ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล, ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส และนายศักดิ์สิทธิ์ ศรีมะโรง ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายพันธมิตร ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายหน่วยงานทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยวิทยากรแต่ละคนชี้ให้เห็นถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข พร้อมยกตัวอย่างผลงาน โดยการแสดงผลข้อมูลผ่านรูปแบบ Dashboard เช่น สถานการณ์หมอกควันไฟป่า, ข้อมูลการเลือกตั้ง, ข้อมูลการขยายสถานศึกษาของนักเรียน และเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมมองเห็นภาพชัดขึ้น


ช่วงถัดมาพบกับ ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ มาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมในหัวข้อ “Understanding PDPA” โดยมองว่า แนวโน้มของข้อมูลที่ถูกละเมิดในอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกคือ เรื่องของ Healthcare, Financial, Pharmaceuticals, Energy และ Industrial ซึ่งกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายได้แบ่งออกเป็น 1. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (กคส.) 2. คณะกรรมการกำกับสำนักงานฯ (กกส.) 3. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 4 คณะ และ 4. สนง.คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ กฎหมาย PDPA นั้นเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection) เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการหรือองค์กรที่มีการเก็บ ใช้ ข้อมูลส่วนบุคคล, กำหนดมาตรการเยียวยาถ้าหากมีการละเมิดสิทธิ, สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการใช้ข้อมูล และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมั่นคง ซึ่งการประมวลผลข้อมูลนั้นจะเริ่มจากการเก็บรวบรวม (Collect) เพื่อนำไปใช้ (Use) และเปิดเผย (Disclose) โดยข้อมูลทั้งหมดนั้นจะเกี่ยวข้องกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ๆ (Data Subjects)

ส่งท้ายสัปดาห์ที่ 3 ด้วยการจัดกิจกรรม “Pre-Workshop Explain Capstone Project Details” โดย ผศ.ดร.ดวงใจ จิตคงชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากำลังคน พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญของ BDI โดยมีการแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่ม L (Leadership) หัวข้อ Healthcare, กลุ่ม E (Envision) หัวข้อ Travel, กลุ่ม A (Agility) หัวข้อ Commerce และกลุ่ม D (Decision) หัวข้อ Public Sector โดยเป้าหมายในการทำ Group Workshop คือ การประเมิน Digital Maturity Assessment จาก Scenario Case ของแต่ละกลุ่ม เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าอบรมเตรียมความพร้อมสำหรับ Workshop ในครั้งต่อไป

