26 กรกฎาคม 2567, กรุงเทพฯ – สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI จัดหลักสูตร “ผู้นำยุคใหม่ พลิกโฉมธุรกิจด้วย Big Data และ AI” (LEAD : Transformational Leadership with Big Data and AI) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ มุ่งปลดล็อกศักยภาพผู้นำยุคใหม่ สู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกทุกมิติทาง Big Data & AI พร้อมถอดบทเรียนจากตัวอย่างการใช้งานจริงของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคการสร้างความเชื่อมั่น และการนำ Big Data & AI ไปปรับใช้ในองค์กรสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

สำหรับช่วงแรกได้รับเกียรติจากนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มาแบ่งปันความรู้ในหัวข้อ “Leveraging Cloud and AI for Business Transformation” โดยเผยว่า AI เป็นนวัตกรรมที่จะสร้าง Impact ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะ AI สามารถปลดล็อกขีดความสามารถได้หลากหลาย เช่น การแต่งเพลง สามารถแต่งเพลงได้โดยใช้การป้อนชุดคำสั่งลงไปใน Chat GPT เพื่อให้ได้เนื้อเพลงออกมา และใช้ Prompt ในการสร้างทำนองเพลง ซึ่งใช้เวลาในการทำเพลงเพียง 30 นาที แสดงถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจทุกรูปแบบด้วย AI โดยแบ่งออกเป็นเรื่องของการเสริมสร้างประสบการณ์ของพนักงาน, สร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าใหม่, ปรับโครงสร้างกระบวนการดำเนินธุรกิจ และลดความยุ่งยากของนวัตกรรม โดยประเทศไทย 92% มีการใช้ AI เป็นตัวช่วยในการทำงาน ซึ่งพบว่า ช่วงอายุของผู้ใช้ AI แบ่งเป็น Gen Z 85%, Millennials 78%, Gen X 76% และ Boomers 73% นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า 74% ของผู้นำไทยจะไม่จ้างคนที่ไม่มีทักษะด้าน AI

ช่วงถัดมาพบกับ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มาบรรยายในเรื่อง “Cybersecurity in the Digital Age” เผยถึงความเสี่ยงระดับโลกด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากการสำรวจพบว่าอันดับหนึ่งคือเรื่องของ Misinformation and disinformation พร้อมเล่าถึงประสบการณ์จอฟ้าของ Windows ในช่วงวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ชื่อ “CrowdStrike” ทำให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ทั่วโลกเกิดข้อผิดพลาดในการอัปเดตส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยการแก้ไขปัญหาจะคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ พลอากาศตรี อมร ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมลองเข้าเว็บไซต์ shodan.io และค้นหาคำว่า CCTV ซึ่งจะพบว่า ประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับกล้องวงจรปิดอันดับหนึ่ง คือ ประเทศอินโดนีเซีย รองลงมา คือประเทศไทย ซึ่งการเชื่อมต่อแบบนี้จะทำให้ถูกแฮกได้ง่าย พร้อมทั้งยังเผยถึงช่องทางที่ถูกโจมตีด้านข้อมูลได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเว็บไซต์หน่วยงานการศึกษา ที่ถูกโจมตีด้วยการเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์และถูกฝังเว็บพนันออนไลน์ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กสมช.) มีการตรวจสอบการค้นหาจากหน้าเว็บไซต์ Google ซึ่งมีผลการค้นหาที่ตรวจพบเกี่ยวกับการฝังเว็บพนันออนไลน์สูงถึง 34,072,084 รายการ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2565)

พลอากาศตรี อมร เผยอีกว่าจากผลสำรวจพฤติกรรมของคนไทย 88% มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยใช้งานผ่านโซเชียลมีเดีย 49.10 ล้านคน หรือคิดเป็น 68.3% ของประชากรทั้งหมด และมีการใช้โทรศัพท์มือถือ 97.81 ล้านหมายเลข คิดเป็น 136.1% ของจำนวนประชากร และคนไทยมีความกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเพียงแค่ 20.8% จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดคดีที่มาจากภัยสังคมออนไลน์ โดยเป็นเรื่องการหลอกลวงซื้อขายสินค้า 42.51% มูลค่าความเสียหาย 3,834,641,995 บาท พร้อมชี้ให้เห็นถึงกรอบการบริหารความเสี่ยงทางไซเบอร์ ที่กำหนดโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยี แบ่งออกเป็น 6 ฟังก์ชันหลัก คือ ระบุ Identify (ID), ป้องกัน Protect (PR), ตรวจจับ Detect (DE), ตอบสนอง Respond (RS), ฟื้นฟู Recover (RC) และการกำกับดูแล Govern (GV)


ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 4 ด้วยกิจกรรม “Workshop #1 Innovative Digital Solutions: Data-Driven Technology Implementations in Digital Era” โดย ผศ. ดร.ดวงใจ จิตคงชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากำลังคน BDI พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ BDI โดยให้แต่ละกลุ่มทั้ง กลุ่ม L (Leadership), กลุ่ม E (Envision), กลุ่ม A (Agility) และ กลุ่ม D (Decision) ทำ Digital Maturity Assessment เพื่อประเมินคะแนน โดยคะแนนจะถูกแบ่งออกมาเป็น 9 แกน คือ Strategy & Plan, Leadership, Customer Experience, Operations, People, Culture, Organization, Technology และ Data Analysis & AI ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องหารือกันเพื่อเลือกออกมา 3 เรื่องจาก 9 แกน เพื่อนำไปทำ Gap Analysis Template ในสัปดาห์ถัดไป

