2 สิงหาคม 2567, กรุงเทพฯ – สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI จัดหลักสูตร “ผู้นำยุคใหม่ พลิกโฉมธุรกิจด้วย Big Data และ AI” (LEAD : Transformational Leadership with Big Data and AI) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ มุ่งปลดล็อกศักยภาพผู้นำยุคใหม่ สู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกทุกมิติทาง Big Data & AI พร้อมถอดบทเรียนจากตัวอย่างการใช้งานจริงของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคการสร้างความเชื่อมั่น และการนำ Big Data & AI ไปปรับใช้ในองค์กร สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

ในช่วงแรกของสัปดาห์นี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.วโรดม คำแผ่นชัย CEO บริษัท อัลโต้เทค โกลบอล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IoT และ AI มาบรรยายในหัวข้อ “Sustainable Technologies” โดยเน้นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการพลังงานในอาคารต่าง ๆ เช่น โรงแรม โรงงาน และอาคารสำนักงาน พร้อมอธิบายถึงการพัฒนาระบบ Building 3.0, 5.0 และ 6.0 ที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอาคาร รวมถึงการใช้ AI และ AR/VR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนภายในปี 2580

ช่วงถัดมาพบกับ ผศ. ดร.ประพัฒน์ สุริยผล รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาถ่ายทอดความรู้ในเรื่อง “Digital Health and Travel Innovations” เผยว่า โรงพยาบาลศิริราชมีบุคลากรมากกว่า 18,000 คน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 8,000 – 10,000 ครั้ง/วัน หรือประมาณมากกว่า 3,000,000 ครั้ง/ปี และมีผู้ป่วยในจำนวน 300-400 ครั้ง/ปี ซึ่งการนำข้อมูลมาใช้แบ่งออกเป็น ข้อมูลผู้ป่วย, Medical Data, Genomic Data, ฐานข้อมูลเรื่องยา, การรักษาทางไกล, การเคลมในการรักษา และการสั่งจ่ายยา

โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผ่านแพลตฟอร์ม SiData+ (Siriraj Informatics and Data Innovation Center) สามารถทราบว่า ผู้ป่วยแต่ละคนมาจากไหน และสิทธิ์ในการรักษาของผู้ป่วยคืออะไร ตลอดจนทราบว่าแพทย์แต่ละคนรักษาผู้ป่วยจำนวนเท่าไหร่ และเป็นผู้ป่วยโรคอะไรบ้าง ทั้งนี้ ทุกฝ่ายในโรงพยาบาลจะมีแดชบอร์ดแสดงผลข้อมูลดังกล่าว ซึ่งช่วยบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยได้รับบริการอย่างรวดเร็ว พร้อมนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ทำให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำมากขึ้น

และปิดท้ายในสัปดาห์นี้กับ นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวถึงประสบการณ์และการใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในโครงการ “Phuket Sandbox” ซึ่งเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวหากผ่านการคัดกรองและพักอาศัยในจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน แต่คนภูเก็ตต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 70 % ของประชากรทั้งหมด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบ “ภูเก็ตต้องชนะ” ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนกลายต้นแบบของแอปพลิเคชัน “หมอชนะ”

โดยความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ทำให้จังหวัดภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจและปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงแผนการดำเนินงาน “Phuket Sustainable Strategies 2030” ที่มีเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาใน 10 ด้านหลัก เช่น การศึกษา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร เป็นต้น

หลักสูตร “ผู้นำยุคใหม่ พลิกโฉมธุรกิจด้วย Big Data และ AI” ในครั้งนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งต่างแสดงความเห็นว่าหลักสูตรนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายธุรกิจที่มีคุณค่าในยุคดิจิทัล ทั้งนี้ หลักสูตรจะยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำยุคใหม่ในการเผชิญกับความท้าทายของโลกธุรกิจในอนาคต
