การสร้างอนาคตของการเรียนรู้: บทบาทของ AI ในยุคการศึกษา 4.0

เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ระบบการศึกษาทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รายงานของ World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2024 เรื่อง “การสร้างอนาคตของการเรียนรู้: บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในยุคการศึกษา 4.0” ได้สำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาจัดการและพัฒนาในด้านการศึกษา
การศึกษา 4.0 คืออะไร
การศึกษา 4.0 เป็นกรอบการทำงานที่ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาในวัยเด็ก ส่งเสริมให้ได้ผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความต้องการของแรงงานในอนาคตตามรายงาน World Economic Forum’s Future of Jobs Report 2023 [1]

ในรายงานได้ระบุถึงประเด็นความท้าทายสำคัญ ๆ 3 ประเด็นใหญ่ อันได้แก่
- การขาดแคลนอาจารย์ทั่วโลก โดยองค์การสหประชาชาติคาดการไว้ว่าทั่วโลกจำเป็นต้องมีอาจารย์มากถึง 44 ล้านคนภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และความต้องการนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และความต้องการในการฝึกฝนทักษะใหม่ ยกระดับทักษะ และการศึกษาตลอดชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
- ความไม่มีประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารและการประเมินผล เนื่องจากอาจารย์ใช้เวลากับงานบริหารในสัดส่วนมากเกินความจำเป็น ทำให้ประสิทธิภาพมุ่งเน้นต่อการเรียนและความเอาใจใส่นักเรียนลดลง
- บุคคลากรทางการศึกษายังขาดทักษะดิจิทัลและมีแนวโน้มที่ช่องว่างของทักษะด้านนี้จะกว้างขึ้น และยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการลดช่องว่างของทักษะทางด้านดิจิทัลนี้
ซึ่งประเด็นหลักทั้ง 3 นี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาคุกคามที่ทำให้นักเรียนไม่พร้อมรับมือกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตได้
ศักยภาพของ AI ที่เข้ามาบทบาทให้เกิดประโยชน์ในการศึกษา 4.0
จากงานวิจัยของ WEF ซึ่งจัดทำขึ้นโดยร่วมมือกับ Accenture พบว่า 40% ของภาระงานอาจารย์ทั้งหมดที่ใช้ไปกับงานบริหาร โดยจากการสำรวจพบว่าภาระงาน เช่น การวางแผนการสอนหรือประเมินนักเรียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 8%-20% ของภาระงานทั้งหมด ซึ่งงานอัตโนมัติหรืองานทำซ้ำเหล่านี้ สามารถนำโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เข้ามาใช้งานแทนได้ เช่น การใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ในการรวบรวมรายชื่อหนังสือ วารสาร บทความ และสื่อโสตทัศน์ในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง และช่วยออกแบบการเรียนการสอน มุ่งเน้นไปที่งานสร้างสรรค์ หรือใช้เวลาร่วมกับนักเรียนได้มากยิ่งขึ้น
การปรับปรุงการประเมินและการวิเคราะห์ในด้านการศึกษา
จะเห็นได้ว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีมาปรับให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติและลดภาระของอาจารย์ออกไปได้ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ดังกล่าวหากต้องการนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด อาจารย์สามารถใช้ AI เพื่อมาเป็นผู้ช่วย โดยอาจารย์สามารถให้ตัวอย่างข้อเสนอแนะเพื่อให้ AI ได้เรียนรู้ และออกแบบสื่อการสอน รวมไปถึงการประเมินงาน ซึ่งการเรียนรู้ทั้งหมดจะถูกวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ แทนที่จะต้องพึ่งพาการประเมินอย่างเป็นทางการเป็นระยะ ๆ เป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนได้ซึ่งตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียนได้อีกด้วย
การสนับสนุนปัญญาประดิษฐ์และความรู้ด้านดิจิทัล
การพัฒนาทักษะดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน และยังเป็นการวางรากฐานสำหรับทั้งปัญญาประดิษฐ์และความรู้ด้านดิจิทัล ความรู้ด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสามารถในการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และการตระหนักถึงผลกระทบทางจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ด้วย
การนำ AI เข้ามาบูรณาการในระบบการศึกษาไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการใช้เครื่องมือ AI ในการสอนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับ AI และผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง การนำ AI มาใช้ในระบบการศึกษามิได้หมายถึงผู้เรียนทุกคนจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI แต่ควรเน้นที่การปลูกฝังความตระหนักรู้ ปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็น และสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้กับนักเรียน ยิ่งไปกว่านั้น การนำทักษะด้านไซเบอร์พื้นฐานมาผนวกเข้ากับหลักสูตรสามารถช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการสร้างระบบ AI ที่แข็งแกร่งและปลอดภัยได้

การปรับแต่งเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้
จากการศึกษาวิจัยโดยเบนจามิน บลูม นักจิตวิทยาการศึกษา พบว่าการติวแบบตัวต่อตัว สัมฤทธิ์ผลมากกว่ากลุ่มนักเรียนที่ได้รับการเรียนการสอนแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามข้อเสียของระบบการศึกษาแบบตัวต่อตัว ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างได้ เนื่องจากสัดส่วนอาจารย์ต่อนักเรียนยังนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย ดังนั้นบทบาทของ AI และเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปิดช่องว่างเหล่านี้ได้ เช่น AI สามารถคาดการณ์ในการเรียนรู้ ระบุช่องว่าง และออกแบบการเรียนรู้ส่วนบุคคลโดยวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้ม ประวัติการเรียนรู้ และประสิทธิภาพของนักเรียนได้ ทำให้ได้แบบเรียนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ จึงทำให้เนื้อหาทางการศึกษามีความเกี่ยวข้องมากขึ้นสำหรับผู้เรียนแต่ละคน
สรุปแล้ว AI มีศักยภาพอย่างมากที่จะปฏิวัติการศึกษา แต่การใช้งานต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ด้วยการใช้ AI อย่างมีสติ เราสามารถเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ เพิ่มพลังให้กับการศึกษา และเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการประสบความสำเร็จในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รายงานของ WEF ฉบับนี้จึงเป็นการเรียกร้องให้นักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมในการสนทนาและความร่วมมืออย่างมีความหมาย เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ตอบสนอง มีส่วนร่วม และพร้อมรับมือกับอนาคตในยุคของ AI
บทความโดย ประภาพรรณ วิภาตวิทย์
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์
เอกสารอ้างอิง