ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส พร้อมด้วย นายอมร โชคชัยสิริภักดี นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส โครงการ Youth Link ฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เข้าร่วมประชุมเวทีขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand Zero Dropout) จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมี นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวต้อนรับการประชุม ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาแนวทางบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบการศึกษา ตอบรับนโยบาย Thailand Zero Dropout จากนายกรัฐมนตรี ณ ห้อง Grand A ชั้น 4 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
ภายในงานประชุม ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้แทนจาก BDI ในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้ขึ้นเวทีบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ “พลัง BIG DATA สู่อนาคต Thailand Zero Dropout อย่างยั่งยืน” ดร.พีรดล กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อการแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบของเด็กและเยาวชนได้อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากการบูรณาการข้อมูลบริบทที่เกี่ยวข้องกับเด็กเหล่านั้นมาร่วมด้วย ตัวอย่างข้อมูลดังกล่าวรวมถึง ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น จะสามารถพัฒนาต่อเนื่องสู่การวิเคราะห์ในมิติที่ซับซ้อนขึ้น
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายสำคัญเป็นเรื่องของสิทธิและอำนาจในการประมวลผลข้อมูลดังกล่าว จำเป็นต้องมีการทบทวนกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบข้อมูล การทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อทบทวนกฎหมายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสกัดมาตราที่พูดถึงข้อมูลออกมาทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการประมวลผลข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวสอดคล้องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำไปสู่การออกระเบียบ หรือให้อำนาจแก่หน่วยงานที่มีข้อจำกัดด้านการแชร์ข้อมูล และให้มีแนวพึงปฏิบัติสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล

อีกขั้นตอนหนึ่งคือการขอความร่วมมือหน่วยงานเจ้าของข้อมูล นำชุดข้อมูลที่ถูกชี้หรือระบุได้ทั้งหมดขึ้นระบบ Government Data Catalog เพื่อให้สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างง่ายและต่อยอดการใช้ประโยชน์ และข้อมูลส่วนที่จะใช้งานต้องสามารถเชื่อมต่อผ่านช่องทาง API (เชื่อม System-to-system) สำหรับหน่วยงานที่เข้าข่าย “แชร์ได้” เพื่อให้เกิดการอัปเดตข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและเป็นปัจจุบัน
และขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ คือ ตั้งทีมงานเพื่อศึกษาฐานอำนาจการขอข้อมูล และกำหนดสิทธิการเข้าถึงระบบ เพื่อจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ที่จำเป็น
ในช่วงท้าย ดร.พีรดล กล่าวถึงโครงการ Youth Link หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ทาง BDI พัฒนาขึ้น เป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นเพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหาการกระจัดกระจายของข้อมูลเด็ก มุ่งเน้นในกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุ 0-6 ปี) ที่ดูแลรับผิดชอบโดยหน่วยงานต่างๆ กว่า 34 หน่วยงาน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายที่สำคัญสำหรับการพัฒนาชีวิตของเด็กปฐมวัย

ปัจจุบัน Youth Link เปิดให้บริการระบบบัญชีข้อมูลแก่สาธารณะ ที่รวบรวมรายการชุดข้อมูลเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย จำนวนมากกว่า 50 ชุดข้อมูล และชุดข้อมูลเกี่ยวข้องอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถสืบค้นและทราบถึงช่องทางการเข้าถึงชุดข้อมูลเหล่านี้ ให้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ได้อย่างสะดวก มีประโยชน์ต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมยกตัวการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากโครงการ Youth Link อาทิ การติดตามเด็กตกหล่นและสถานบริการการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย

นอกจากนี้หลังจากวงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อต่อยอดให้การดำเนินงานสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง มีเวิร์กช็อปเพื่อจัดทำปฏิทินและแนวทางการปฏิบัติค้นหา ติดตาม ช่วยเหลือ ในระดับพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและเข้าแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษาในอนาคตต่อไป
รูปภาพจาก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา