ทีม Envi Link จาก สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI นำโดย ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการและนักวิทยาศาสตร์อาวุโส และ ดร.ปฏิภาณ แสงเดือน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในฐานะนักวิจัยโครงการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล และต้นแบบการบูรณาการและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมหารือ ติดตาม และรายงานความก้าวหน้า รวมไปถึงรับฟังโจทย์ปัญหาและความต้องการจากผู้ว่าราชการ รองผู้ว่าราชการ และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และหน่วยงานบูรณาการ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ ผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรม การประชุมครั้งนี้จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2567

BDI เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการจัดทำบัญชีข้อมูลที่ใช้สนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงการวางแนวทางเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ครอบคลุมข้อมูลทุกมิติ ทั้งข้อมูลระดับประเทศ เช่น สถานการณ์ฝุ่น และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและสภาพพื้นที่ จุดความร้อน ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน การใช้เชื้อเพลิงและการขออนุญาตเผาพื้นที่ และข้อมูลระดับพื้นที่/จังหวัด อันเป็นขั้นตอนสำคัญแรกของการประยุกต์นำเทคโนโลยี Big Data มาใช้ให้การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน โดยผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยและพัฒนา พื้นที่สูง (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมควบคุมมลพิษ

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยี Big Data จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ในการลดฝุ่น PM 2.5
การลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในครั้งนี้เป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ กองทุน ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่นำร่อง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเมืองที่สำคัญในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้เป้าหมายของการนำวิจัยเข้าไปตอบโจทย์ปัญหาที่กำลังเผชิญและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างปัญหาหมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5 และปัญหาไฟป่า โดยมีเป้าหมายลดวิกฤตเมืองที่มีค่ามลพิษติดอันดับโลก ให้กลับสู่ภาวะปกติ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่