การแก้ปัญหาข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างด้วย NLP และโมเดลภาษาหนึ่งในกลยุทธ์ AI ขององค์กร

ในบทความแขกรับเชิญพิเศษนี้ ประภท สุนการะ (Prabhod Sunkara) ผู้ร่วมก่อตั้งและ COO ของบริษัท nRoad, Inc. ได้พูดถึงเรื่องของการที่องค์กรต่าง ๆ พึ่งพาข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างมากขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการวิเคราะห์ กำกับดูแล และทำการตัดสินใจในระดับองค์กร โดย nRoad เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างมาเพื่อการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) สำหรับข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างในส่วนการบริการทางด้านการเงินและเป็นบริษัทแรกที่ประกาศ “สงครามกับการทำงานแบบใช้เอกสาร” ก่อนจะมี nRoad ประภทดำรงตำแหน่งผู้นำหลากหลายตำแหน่งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติการ และ Solution Architecture (ตำแหน่งงานที่หาทางออกของปัญหาต่าง ๆ) เขามี Passion ในการสร้าง AI Solutions ที่เน้นผลลัพธ์ ซึ่งเขาก็ได้ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ของบริษัทการเงินระดับโลกมากมายเช่น Bank of America, Merrill Lynch, Morgan Stanley และ UBS
ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างหรือ Unstructured Data คือ ข้อมูลเชิงลึกที่มีอยู่แพร่หลายในทั่วทุกองค์กร แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่โปร่งใสหรือไม่สามารถใช้งานได้เสมอไป เรื่องนี้จึงยังคงเป็นความท้าทายสำคัญด้านธุรกิจ ข้อมูลที่ไม่มีการออกแบบฐานข้อมูลไว้ล่วงหน้ามักจะถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง ซึ่งได้แก่เอกสารและเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือตลอดจนไฟล์ภาพ, วิดีโอ, Chatbot, Audio Streaming และโพสต์โซเชียลมีเดีย โดยข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลที่อยู่ในโลกดิจิทัลทั้งหมด
การเติบโตและความท้าทายของข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง
จากการวิจัยของบริษัท ITC พบว่า จำนวนข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างนั้นคาดว่าจะเติบโตจาก 33 เซตตะไบต์ในปี 2018 เป็น 175 เซตตะไบต์ หรือ 175 พันล้านเทระไบต์ภายในปี 2025 แต่ยังโชคดีที่ในองค์การเริ่มมีการตระหนักถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยไม่นานมานี้เผยว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรบริการด้านการเงินกำลังประสบกับการที่ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ผู้วิจัยส่วนใหญ่ในการวิจัยนี้ระบุว่า ข้อมูลปัจจุบันในองค์กรเป็นข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างมากถึง 50 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน
เมื่อก่อนคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าใจข้อมูลประเภทนี้ได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันที่องค์กรต่าง ๆ ต้องพึ่งพาข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างมากขึ้นในการวิเคราะห์ กำกับดูแล และการตัดสินใจทางธุรกิจ ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างจึงมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้ทีม Technology & Data ต่างแข่งกันอัปเกรดและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของตน เพื่อให้สอดคล้องกับบริการแบบคลาวด์ที่เติบโตขึ้นและข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ทีมเหล่านี้ก็กำลังสนใจในเรื่องของการใช้งานข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่ฝังอยู่ในแหล่งข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง โดยกรณีการใช้งานจะมีตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการไปจนถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับการบริการลูกค้าปลายทาง ผลก็คือทั้ง CIO และ CDO ต่างก็ประเมินผลหรือนำวิธีการแก้ไขไปใช้งาน โดยมีตั้งแต่วิธีง่าย ๆ แบบ OCR Plus ไปจนถึงโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนควบคู่กับเครื่องจักรหรือเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก
การร่วมใช้ NLP และโมเดลภาษาในกลยุทธ์ข้อมูลของคุณ
ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างจำนวนมากของบริษัทจะอยู่ในรูปแบบตัวหนังสือ ตัวอย่างเช่นสัญญาทางกฎหมาย เอกสารงานวิจัย คำติชมของลูกค้าจาก Chatbot และทุกอย่างที่อยู่ในรูปแบบของตัวหนังสือ ซึ่งโดยปกติแล้ว องค์กรจะประยุกต์ใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) มาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ AI และการเปลี่ยนองค์กรมาเป็นองค์กรดิจิทัล (ลองดูตัวอย่างการใช้ประยุกต์ใช้ Data Science กับการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารงานวิจัยที่นี่)
ตลอดสิบปีที่ผ่านมา NLP มีงานวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่โดดเด่นที่สุดก็คือ เรื่องวิวัฒนาการของ Transformer Model ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถก้าวผ่านการวิเคราะห์ Keyword แบบง่าย ๆ ไปเป็นการวิเคราะห์ขั้นสูงอย่าง Sentiment Analysis (กระบวนการวิเคราะห์อารมณ์) และ Semantic Analysis (การวิเคราะห์ทางความหมาย) แม้ว่า NLP จะสามารถทำให้เครื่องจักรระบุจำนวนและเข้าใจแก่นแท้ของข้อความได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายในเรื่องของการเข้าใจข้อความที่กำกวม วิธีการที่จะรับมือกับข้อความกำกวมเหล่านี้ได้ก็คือการรวมความรู้และบริบทของโดเมนเข้าด้วยกันเป็นโมเดลภาษา โดยการใช้งานโมเดลที่ปรับปรุงอย่างดีแล้ว เช่น LegalBERT, SciBERT, FinBERT ฯลฯ ทั้งนี้ก็จะช่วยให้เริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้นสำหรับกรณีหากต้องการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจง
ตอนเริ่มแรกโมเดลที่ปรับปรุงอย่างดีแล้วจะมีฐานข้อมูลที่มั่นคง เช่นเดียวกับโมเดลที่ใหญ่ เช่น BERT และ GPT3 แต่อย่างไรก็ตามโมเดลเหล่านี้ยังคงไม่ตอบโจทย์หรือความต้องการของธุรกิจส่วนใหญ่ได้ ด้วยเหตุผลนี้เองธุรกิจที่ดำเนินการในหลายตลาด หลายภูมิภาค และหลายภาษาควรพิจารณาการใช้งานโมเดลภาษาข้ามโดเมน โมเดลหลายภาษา และ/หรือเทคนิคการโอนย้ายการเรียนรู้ (Transfer Learning) เพื่อรับมือกับความท้าทายได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าจะมีการวิจัยและพัฒนา Language Model Architectures ที่ดีขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มี Solution ที่ใช้ได้กับทุกสิ่ง ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้องค์กรที่พยายามสร้างโมเดลภาษาของตนก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างขององค์กรอีก เช่น การขาดข้อมูลอธิบายประกอบ (Annotated Data) ไม่มีการอบรมเกี่ยวกับเรื่อง Data การที่องค์กรขาดความเข้าใจในการประยุกต์ใช้โมเดล และความที่องค์กรอยากจะรีบพัฒนาและอยากใช้งานอุปกรณ์อย่างรวดเร็วแต่ไม่มีทุนการทำ รวมถึงอยากรีบได้ผลตอบแทนคืนจากการลงทุนอีกด้วย
วิธีที่องค์กรสามารถรับมือกับปัญหาข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นได้
การนำข้อมูลมาใช้ขับเคลื่อนองค์กร (Data Strategy) และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในแผนกลยุทธ์ AI ทั่วไปขององค์กร องค์กรส่วนใหญ่สามารถวางแผนและจัดการกับข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทว่าข้อมูลเชิงลึกนั้นฝังอยู่ในข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง และองค์กรต่างก็งมหาอยู่ในข้อมูลนี้ CDO ขององค์กรจึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลนี้และวางแผนอย่างชาญฉลาดเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้
ความท้าทายที่ยากที่สุดที่มักพบได้คือการขาดความสอดคล้องเชิงองค์กรกับกลยุทธ์ AI ขององค์กร แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโมเดล ML (Machine Learning) และ DL (Deep Learning), ความสอดคล้องกับผู้นำ, ความเข้าใจถ่องแท้เรื่องข้อมูลและผลลัพธ์, และการรวมทีมที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลยุทธ์ AI ในองค์กร เพราะวิธีที่ระบุจำนวนได้และเน้นผลลัพธ์ช่วยให้ทีมมุ่งเน้นที่เป้าหมายปลายทางเมื่อเทียบกับโมเดล AI ที่เน้นโฆษณาชวนเชื่อ ตัวอย่างเช่น GPT3 ที่เป็นโมเดลคาดการณ์ภาษาขนาดใหญ่ที่มักจะคาดการณ์ไม่ค่อยถูกต้อง ซึ่งมีหลายกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ เพราะใช้โมเดล GPT3 ซึ่งอาจทำให้องค์กรเสียชื่อเสียงได้
การอบรมและเรียนรู้เชิงลึกในการแก้ไขปัญหานั้นมักมีต้นทุนสูงและแอปพลิเคชันที่ต้องใช้เทคนิคที่เน้น NLP นั้นจำเป็นต้องมีแหล่งช่วยคำนวณที่ใช้โดเมนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเริ่มทีม AI ภายในองค์กร องค์กรจะต้องเน้นในเรื่องของการกำหนดปัญหาและผลลัพธ์ที่วัดได้ นอกจากการกำหนดปัญหาแล้ว ทีมผลิตภัณฑ์ต้องโฟกัสที่ความหลากหลาย ความซับซ้อน และความพร้อมใช้งานของข้อมูล ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยวางแผนกลวิธี ระบุโมเดลพื้นฐานที่เหมาะสม และสร้างการกำกับดูแลข้อมูลและการอบรมในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานที่ดี
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ คือ การเลือกพาร์ทเนอร์ที่เป็นบุคคลภายนอกหรือผู้ที่ให้บริการทางด้านนี้มาช่วยเริ่มกลยุทธ์ของคุณ เทคโนโลยีของผู้ให้บริการช่วยให้องค์กรได้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานและการดำเนินการที่ดีที่สุดในโมเดลภาษาที่ใหญ่กว่า ตลอดจนประสบการณ์มากมายที่พวกเขาเคยรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
การร่วมใช้กลยุทธ์เพื่อจัดการกับปัญหาข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างขององค์กรและการใช้ประโยชน์จาก เทคนิค NLP กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีที่ใช้ในองค์กร แม้ว่าโมเดล RPA, OCR Plus, หรือโมเดล ML สถิติขั้นพื้นฐาน (Basic Statistical-based ML) จะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่การใช้วิธีการเรียนรู้เชิงลึกก็จะเป็นแนวทางในการจัดการกับปัญหาข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างขององค์กรต่อไป
บทความโดย InsideData Editorial Team
เนื้อหาจากบทความของ InsideBigdata
แปลและเรียบเรียงโดย ไอสวรรค์ ไชยชะนะ
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร