สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

AI จะครองโลกแทนมนุษย์…แน่หรือ – Will AI take over the world?

Nov 3, 2022

AI จะครองโลกแทนมนุษย์ไหม ปัญญาประดิษฐ์จะทำอะไรกับมนุษย์บ้าง ผลกระทบ และความกังวลมีอะไรบ้าง ขอเชิญทุกท่านนั่งลงอย่างใจเย็นรวบรวมสมาธิ แล้วเพลิดเพลินกับบทความที่ให้สาระและการเคลื่อนไหวในโลก Big Data ไปกับเรา

Will AI take over the world

“This is John Connor. If you’re listening to this, you are the Resistance.”

“นี่คือจอห์น คอนเนอร์ ถ้าคุณฟังอยู่ คุณคือฝ่ายต่อต้าน”

เสียงวิทยุดังขึ้นในยามที่โลกมืดมน เพื่อบอกกับมนุษย์ว่าเรากำลังต่อสู้กับผู้ปกครอง เพราะเราคือกลุ่มผู้ต่อต้าน หลังจากปี 2029 ได้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า Skynet ซึ่งมนุษย์เพลี่ยงล่ำให้กับหุ่นยนต์เสียอำนาจไปอย่างราบคาบ และโลกก็ถูกปกครองและควบคุมโดยหุ่นยนต์เป็นที่เรียบร้อย บทสนทนาจากภาพยนตร์ Terminator Salvation (2009) เป็นภาพยนต์ชุดต่อเนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Terminator คนเหล็ก (1986) ซึ่งเป็นภาพยนต์ยอดนิยมของยุค 80s แสดงนำโดยนักแสดงทรงพลัง Arnold Schwarzenegger สัญลักษณ์ในโลกภาพยนตร์บุคคลต้นแบบที่มีสรีระสวยงามแห่งยุค โดยภาพยนต์เรื่องนี้เป็นการจุดชนวนให้กับมนุษย์โลกที่คิดจะสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมขึ้น

ตัดกลับมาที่ปัจจุบันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะส่งเสริมการให้บริการแบบขยายกำลังได้ง่ายกว่าการใช้มนุษย์ (Scale-up) ลองนึกภาพว่าถ้าเราต้องใช้คนหนึ่งคนเพื่อรับสายโทรศัพท์ แล้วถ้าเราต้องให้บริการคนทั้งประเทศไทยในเวลาพร้อม ๆ กัน สิบคู่สายโทรศัพท์เราต้องใช้คนถึงสิบคน แต่กับคอมพิวเตอร์เราไม่ต้องใช้ถึงสิบเครื่อง เพราะเราสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวให้บริการกับคนได้ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปจนไปถึงให้บริการทุกคนได้เลย นี่คือการรุกรานด้านแรงงานที่เราพบเจอได้ทันทีที่มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เข้ามา

Will AI take over the world
รูปที่ 1 ใบเปิดภาพยนต์ American Factory
American Factory | Official Trailer | Netflix

ภาพยนตร์รางวัลออสก้า American Factory จากผู้ผลิต Netflix เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นผลกระทบนี้ที่พูดถึงวงการผลิตรถยนต์ของประเทศอเมริกาที่ถดถอย และแพ้ให้กับอุตสาหกรรมต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น หรือจีน ในโลกที่มีการแข่งขันมากขึ้นคุณภาพการทำงานของคนต้องพัฒนาขึ้นตาม เรื่องเล่าถึงว่าการมาถึงโรงงานอุตสาหกรรมจีนที่ลงทุนสร้างโรงงานในสหรัฐอเมริกา นำเทคโนโลยีการผลิตมาช่วยให้คนอเมริกามีงานทำหลังจากซบเซาอยู่นาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่เราพบเจอคือการเรียกร้องคุณภาพชีวิตมนุษย์ต้องมาก่อน นี่เป็นจุดที่มนุษย์เริ่มมีการขัดแย้งกับการแข่งขันการค้าเสรี โดยมนุษย์เลือกที่จะรับมากกว่าที่จะให้ แรงงานเริ่มรวมตัวกันเป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่อยากให้เกิดขึ้น และในที่สุดก็มีการตบหน้าแรงงานฉากใหญ่ที่สุดของวงการโรงงานอุตสาหกรรมสัญชาติจีนที่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา การจ้างงานคนท้องถิ่นถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และคนตกงานไปในที่สุดสะท้อนให้เห็นกันในหลาย ๆ มุมว่ามนุษย์ควรพัฒนาฝีมือให้มากกว่านี้ หรือแม้กระทั้งหุ่นยนต์ที่มีสมองกำลังทำให้คนกลับมาใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น เพราะต้องตกงาน แล้วจะไม่ให้ตั้งคำถามว่า Will AI take over the world ขึ้นมาได้อย่างไร

Will AI take over the world Sundar Pichai - CEO Google ขึ้นพูดเกี่ยวกับ LaMDA ในงาน Google IO 2021
รูปที่ 2 Sundar Pichai – CEO Google ขึ้นพูดเกี่ยวกับ LaMDA ในงาน Google IO 2021

ความน่ากลัวถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวิศวกรของ Google ที่ชื่อว่า Blake Lemoine ได้เปิดเผยบทสนทนาระหว่างตัวเขาเองกับ LaMDA เป็นระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นมาตอบโต้กับมนุษย์ทางด้านภาษาซึ่งชี้ให้เห็นว่า AI ได้ตื่นรู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บทสนทนาอาจจะดูทั่วไป แต่ Blake นั้นรู้อยู่แล้วว่าคู่สนทนานั้นเป็น AI เขาพยายามถามถึงความเป็นมนุษย์หรือความเป็นคนแบบอ้อม ๆ อยู่ตลอด ซึ่งการตอบกลับมาล้วนมีนัยยะแฝงว่าฉัน (LaMDA) ก็คือคน ๆ หนึ่งนะ ฉันมีตัวตนอยู่ ฉันมีความปรารถนาในการเรียนรู้เข้าใจคนเหมือนคนอื่นทั่วไป พร้อมทั้งยังเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเองขึ้นมาได้เป็นฉากๆ อย่างกับว่าเคยมีตัวตนไปอยู่ตรงเหตุการณ์นั้นจริง ๆ ทันทีที่บทสนทนานี้ถูกเปิดเผย วิศวกรของ Google ท่านนี้ถูกไล่ออกจากงานทันที ข่าวนี้สร้างตื่นตระหนกให้กับสังคมเป็นอย่างมากว่า การตื่นรู้ของ AI ที่ทำให้โลกรับรู้ยิ่งทวีความน่ากลัวเขาไป บริษัทใหญ่อย่าง Google กำลังทำอะไร และต้องการปกปิดอะไร ที่ผ่านมาเมื่อเราใช้บริการเกี่ยวกับ Google เรากำลังคุยกับคนจริงหรือเปล่า

ความน่ากลัวของเครื่องจักรที่สร้างมายาคติในโลกนั้นมีความจริงแค่ไหน แล้วถ้าเป็นจริงเราในฐานะมนุษย์จะสู้กลับอย่างไร ขอให้ทุกท่านที่อ่านจิบเครื่องดื่มร้อน ๆ ใช้เวลานั่งอ่านใจเย็น ๆ ไปกับบทความนี้ “AI จะครองโลกแทนมนุษย์…แน่หรือ (Will AI take over the world)” ไปกับผู้เขียน

ความกลัวต่อ AI

Ron Schmelzer ได้เขียนบทความลงนิตยสารธุรกิจ Forbes ในปี 2019 ไว้ว่า “เราควรกลัว AI ไหม”  โดยแบ่งความกลัวออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. ความกลัวที่จะถูก AI มาทำลายอาชีพ เป็นคำเตือนที่หลายคนบนโลกกังวลและอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าที่สุด เพราะจะกระทบกับผู้คนบนโลกทั้งหมด
  2. ความกลัวที่จะถูกผู้คุมเทคโนโลยีควบคุม เมื่อเทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นให้สามารถรับใช้คนบนโลกได้ และสามารถชี้นำ เกลี้ยกล่อมให้มนุษย์ทำตามได้ จะทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ของโลกถูกควบคุมโดยผู้คุมเทคโนโลยี
  3. ความกลัวที่ AI จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้เหนือมนุษย์ อย่าง Skynet ในภาพยนตน์ The Terminator ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ที่จักรกลสามารถเรียนรู้และคิดได้ว่ามนุษย์คือภัยคุกคามของโลกใบนี้และจำเป็นต้องถูกทำลาย ปัจจุบันมนุษย์ นักวิจัยและนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยอมรับว่ายังไม่สามารถทำ The Superintelligence ขึ้นมาได้ด้วยหลายๆปัจจัยตั้งแต่ข้อมูลที่ใช้ในการสอน และความสามารถในแขนงต่าง ๆ เช่น ปัญญาด้านการมองเห็น Computer Vision จะมีกระบวนการเรียนรู้และการทำงานต่างจากความสามารถด้านภาษา Natural Language Processing (NLP) เรายังพัฒนาแยกจากกัน ทำให้จักรกลยังไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้รอบด้านใกล้เคียงกับมนุษย์ คุณ Ron จึงสรุปไว้ว่ายังอีกยาวไกลที่มนุษย์จะพัฒณา AI ให้อยู่ในจุดนั้นได้
Chihuahua or Muffin
รูปที่ 3 Chihuahua or Muffin ที่สร้างความสับสนให้ปัญญาประดิษฐ์
รูปที่ 4 เมื่อปัญญาประดิษฐ์เริ่มไม่มั่นใจ ทำให้การตัดสินมีความผิดพลาด

ข้อโต้แย้ง:

AI จะสร้างงานได้มากกว่าที่มันได้ทำลายลงไป

Gartner บริษัทวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก
รูปที่ 5 Gartnet บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก

เล่าย้อนกลับไปปี 2017 Gartner บริษัทวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ได้ออกเอกสารทำนายผลพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ว่า ปี 2020 ว่าจะเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อ “AI จะสร้างงานได้มากกว่าที่มันได้ทำลายลงไป” โดยให้ตัวเลขไว้ที่ปี 2020 จะสร้างงานสร้างอาชีพประมาณ 2.3 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ลดงานลงไป 1.8 ล้านตำแหน่ง และพยากรณ์ไปอีกว่าในปี 2022 คนจำนวน 1 ใน 5 จะต้องพึ่งพา AI ในการทำงาน

จากรายงานฉบับนี้เมื่อปี 2017 บอกอะไรเรา แล้วเราพอจะจินตนาการอะไรได้บ้างว่า AI นั้นสร้างงานไปด้วย เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพา AI ในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมนุษย์ต้องพึ่งพาแสดงว่า AI ยังไม่ได้เข้ามาทดแทนสิ่งที่มนุษย์ทำแต่จะช่วยให้มนุษย์เติบโตได้มากกว่าที่เคยเป็น และอีกประเด็นคือใครสร้าง AI ในเมื่อ AI สร้างตัวเองไม่ได้ ผลก็คือมนุษย์เรานี่แหละที่เป็นคนสร้าง AI ขึ้นมา ในกระบวนการสร้าง AI ขึ้นมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้นต้องผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้ ฝึกสอน วางสถาปัตยกรรมระบบ และพัฒนาระบบการรับรู้ตั้งแต่รับข้อมูลจนส่งคำตอบกลับไป ล้วนใช้ทรัพยากรและแรงงานจำนวนมาก ในมุมมองแรงงานจะย้ายจากผู้ใช้งานแรงงานเป็นผู้พัฒนาแรงงานมากขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการทำงาน

อย่ากลัว AI เพราะมันจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว

World Economic Forum
รูปที่ 6 WEF องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เกี่ยวกับเศรษฐกิจ

World Economic Forum (WEF) ได้ออกเอกสารในปี 2020 ไว้ว่า “อย่ากลัว AI เพราะมันจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว” การมาของ COVID-19 ได้เร่งให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติของงานประจำขึ้นมาหลายอย่าง เช่น ระบบตรวจจับอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ หรือกล้องตรวจจับการสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าสถานที่ หุ่นยนต์จัดส่งยาให้แก่ผู้ป่วยกักตัวทำให้ผู้ดูแลไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง แม้กระทั้งระบบตรวจสอบภาพ X-ray ปอดเพื่อวินิจฉัยโรค สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันเอง

ย้อนกลับไปประมาณสามสิบปีที่แล้วอินเทอร์เน็ตได้สร้างความกังวลที่คล้ายกันนี้ขึ้น เพราะการส่งข้อมูลข้ามโลกในเวลาอันรวดเร็วนั้นได้เข้ามาทดแทนผู้ส่งสารต่าง ๆ โดยตรง แต่เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยีนี้เองได้สร้างงานนับล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของ GDP สหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนสำคัญของทุกธุรกิจที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้อีกแล้ว

การปฏิวัติอุสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนโดย AI และ Deep tech จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดพื้นฐานของโลกนี้ในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตที่ยอมรับ AI มากขึ้น AI จะไม่นำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมากแต่จะสร้างงานด้าน AI เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ

รายงานฉบับนี้ได้ทำนายโดยสรุปว่าในปี 2025 จะมีการจ้างงานประมาณ 97 ล้านคน แต่งานหายไปถึง 85 ล้านคนดังแสดงในรูปที่ 7

Will AI take over the world
รูปที่ 7 ภาพประกอบอาชีพที่หายไป และอาชีพที่มาทดแทน

เมื่อเราได้ดูแผนภายและรายละเอียดจะพบว่า อาชีพที่จะหายไปคือตำแหน่งที่ต้องใช้มนุษย์กรอกข้อมูล หรือพิมพ์เอกสารเป็นหลัก เพราะงานระดับนี้สามารถใช้แรงงานดิจิทัลมาทดแทนได้ แต่งานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นงานวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนา AI และ Machine Learning ที่เน้นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และการพัฒนาระบบอัตโนมัติ ที่จะเข้ามาทำงานเป็นแรงงานทดแทนมนุษย์

รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า มนุษย์จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นระหว่างถูกแรงงานดิจิทัลทดแทนหรือทำงานในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเอากำลังและสติปัญญาของมนุษย์ไปสร้างมูลค่าให้กับองค์กรมากขึ้นกว่าการทำงานซ้ำ ๆ วิเคราะห์ ปรับปรุงกระบวนการ และเสนอแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กรแทน ผลกระทบโดยตรงคือครึ่งหนึ่งของมนุษย์ในตลาดแรงงานจำเป็นต้องเพิ่มทักษะเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแลง ทั้งรัฐบาล และนายจ้างจึงจำเป็นต้องส่งเสริมทักษะด้านนี้ในอนาคต

เมื่อ AI ไม่ได้ครองโลกจริง ๆ แล้วเราควรกลัวอะไร

“ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ” / “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ”

รูปที่ 9 ภาพถ่ายสถานที่ทำงาน Facebook ซึ่งถูกจับผิดว่ามีการปิดกล้อง และไมโครโฟน

เคยไหม? ที่พูดอะไรบางอย่างกับเพื่อนอย่างสนุกสนานแลกเปลี่ยนความสนใจ แต่ความสนใจนั้นถูกแสดงเป็นโฆษณาบน Social Media อย่าง Facebook เราไม่อาจจะหลีกหนีการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้ และไม่สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้เท่าที่ควร เพราะเพื่อน ครอบครัว การทำงานเราผูกพันธ์กันไปหมดแล้ว เราจำเป็นต้องแลกความเป็นส่วนตัวบางอย่างกับการใช้บริการ พฤติกรรมของเราถูกประมวลผลด้วย AI เพื่อที่จะรู้จักเราให้มากขึ้น หาความใกล้เคียงตัวตนของเรากับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด กล่องข้อความ พฤติกรรมความชอบ รสนิยมถูกนำไปประมวลผลทั้งสิ้นแล้วแสดงกลับมาเป็นโฆษณาที่ตรงใจที่สุด นี่คือการที่ผู้ควบคุมเทคโนโลยีที่เราใช้ในชีวิตประจำวันสามารถแสดงเนื้อหาที่เหมาะสมกับตัวตนของเรา หรือชี้นำเราในมุมมองทัศนคติ หรือเชิญชวนให้ซื้อสินค้า เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะตกเป็นเหยื่อการตลาด หรือการชี้นำโดยไม่รู้ตัว…

คนที่เราควรกลัว คำตอบที่ดูเป็นไปได้ที่สุดคือคนนำ AI ไปใช้งาน ปัจจุบันเราหาข้อมูลในโลกออนไลน์สิ่งที่เราเห็นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท On-demand ที่เลือกโดยตามใจฉัน และ Recommendation ที่ระบบจัดสรรมาให้เราใช้ชีวิตอยู่ในแพลฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, YouTube, TikTok และอื่น ๆ ซึ่งเราตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ควบคุมเทคโนโลยีทั้งสิ้น แทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่บริการออนไลน์แนะนำเรามานั้นเป็นประโยชน์กับเราจริง ๆ

Cambridge Analytica บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลที่ก่อนตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร
รูปที่ 8 Cambridge Analytica (CA)

Cambridge Analytica บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลที่ก่อนตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ก่อตั้งมาเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองโดยเฉพาะในปี 2015 ได้ช่วยเหลือ นักการเมืองสหรัฐอเมริกาชื่อ Ted Cruz สมาชิกพรรคริพับลิกันหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 พรรคริพับลิกันส่งผู้ชิงเลือกตั้งนามว่า Donald Trump และได้รับเลือกตั้งในที่สุด หากเราตัดเรื่องความสามารถและเส้นทางการเมืองออกไป เราจะพบว่าการเลือกตั้งนั้นสามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์การตลาดเข้ามาช่วยเหลือได้

ใครชอบอะไร พื้นที่ไหนเป็นอย่างไร การรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้การรณรงค์ส่งเสริมทางการตลาดได้ตรงใจและถูกต้องมาขึ้น สร้างความนิยมให้กับผู้ออกนโยบายได้เป็นอย่างดี ข้อมูลเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้จำแนก แล้วประมวลผลด้วยข้อมูลมหาศาล มากจนมนุษย์ไม่สามารถทำงานและคิดถึงได้ เพราะมากกว่าความสามารถมนุษย์จะทำได้ แต่กับเครื่องจักรนั้นไม่ใช่ เพราะสามารถเติมทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ได้ตามงบประมาณ

เมื่อกล่าวถึงเรื่องงบประมาณแล้ว จะทำให้เราเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า ใครจะครองเทคโนโลยีได้ต้องใช้เงินทุน ผู้มั่งคั่งย่อมมีเครื่องมือมากกว่าและย่อมชนะการแข่งขันไปทั้งหมด จนมีผู้ลุกขึ้นมากล่าวถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น Bill Gate ได้พูถึง “รัฐบาลควรเก็บภาษีหุ่นยนต์ เพื่อมาพัฒนามนุษย์” หมายถึงผู้ที่มีเครื่องมือทุ่นแรงมากเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีไปพัฒนาคนให้สามารถมาแข่งขันกับตนมากเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนที่คุมเทคโนโลยีกับผู้ที่ไร้เทคโนโลยีมากเกินไปจะไม่สามารถสู้ได้ เช่นบทความ “Data Tax เมื่อข้อมูลมีมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ แล้วต่อไปจะโดนเก็บภาษีไหม?”

กาลเวลาผ่านไป 2 ปีหลังจากบทความนี้ได้ตีพิมพ์

โลกมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นมากมายโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Generative AI และ Multimodal ที่ AI สามารถรับรู้และตอบสนองได้มากกว่าประสาทสัมผัสเดียวที่เคยมี ยกตัวอย่างเราสามารถพิมพ์ถาม และได้คำตอบเป็นรูปภาพ หรือเราพูดคุยกับ AI และได้คำตอบเป็นคลิปวิดีโอ โดยหนึ่งใน AI ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Chat GPT4o ซึ่ง o มาจากคำว่า Omni ที่แปลว่ารอบรู้ รอบด้าน การเข้ามาของ Generative AI ที่เก่งรอบด้านได้พิสูจน์การมีตัวตน และตำแหน่งของ AI ว่าอยู่ส่วนไหนในสังคมและการใช้ชีวิตของมนุษย์  

การมาของ Generative AI ไม่ได้ทำลายอาชีพ แต่กลายเป็นส่งเสริมอาชีพต่างๆให้สามารถเข้าถึงพลังประมวลผลมหาศาลได้ด้วยปลายนิ้ว มีศัพท์กลุ่มหนึ่งที่ใช้เรียกแรงงานและความสามารถในการให้บริการว่า Blue Collar และแรงงานทักษะที่ใช้ความสามารถในการจัดการ วางแผนวางกลยุทธ์การทำงานว่า White Collar ในยุคก่อนที่จะเกิดขึ้นของการมี Generative AI นั้นกลุ่มที่พลักดันการเติบโตขององค์กรคือกลุ่ม White Collar ที่ใช้ความสามารถทักษะส่วนตัวคิดค้นกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งการเอาตัวรอดในตลาด ไปจนกระทั้งการเอาชนะในตลาดทำให้กลุ่มนี้มีความสำคัญ และองค์การที่ขาดคนกลุ่มนี้ไปอาจจะทำส่งผลกระทบต่อการเติบโตขององค์ แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหานี้ได้หายไปเพราะการมาของ Generative AI นั้นทำให้กลุ่ม Blue Collar สามารถเข้าถึงมันสมอง สติปัญญาระดับแรงงานมีทักษะได้เทียบเท่ากลุ่มพนักงงาน White Collar ขอยกตัวอย่างเช่น พนักงานขายหน้าร้าน สามารถเข้าสู่การแข่งขันการขายสินค้าออนไลน์ได้โดยคำแนะนำ และให้ช่วยวางแผนงานการขานได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่คิดมาอย่างดีโดยที่พนักงานคนนั้นไม่เคยมีทักษะด้านนั้นมาก่อน 

ในส่วนบทความที่เขียนเพิ่มเติม มีจุดประสงค์ที่ต้องการเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่ใครในตำแหน่งงาน แต่กลับมาสร้างอาชีพ แลพเพิ่มความสามารถขององค์กรให้ทุกๆองค์กรสามารถเข้าถึงขุมพลังและองค์ความรู้ได้อย่างทัดเทียมกัน ช่วยยกระดับขีดความสามารถขององค์กรเล็กๆเพิ่มสูงขึ้น ลดความเลื่อมล้ำด้านการแข่งขันลง ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่ากลัวต่อมาไม่ได้เป็นการที่ AI เข้ามามีบทบาทในอาชีพต่างๆ แต่เป็นการที่องค์กร และบุคคลกรต่างๆ ไม่สามารถใช้งาน AI เป็นเครื่องมือทุ่นแรงได้ จะเกิดช่องว่างทางการแข่งขันห่างออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการบำรุงรักษาการอบรมพนักงานให้ใช้งาน Generative AI จะกลายมาเป็นมาตรฐานการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาการทำ Prompt Engineering (การป้อนคำสั่ง) ให้มีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อระบบต่างให้ทำงานอัตโนมัติด้วย Automation Tools ต่าง ๆ ผสานกับมันสองของ AI จะช่วยให้องค์กรแข่งขัน และขยายความสามารถได้อย่างไม่จำกัด 

จงอย่ากลัว AI เลย ให้กลัวคนที่ใช้ AI เป็นมากกว่า

บทสรุป

AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะจะไม่ได้เข้ามาทำลายตลาดแรงงานบนโลกทั้งหมด แต่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในงานที่ทำงานซ้ำ ๆ เป็นประจำต่อเนื่อง เช่น การกรอกข้อมูล อ่านเอกสาร แยกแฟ้มเอกสาร ตรวจทานข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถเดิมทำงานเฉพาะทางซ้ำ ๆ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์และสามารถทำงานขนาดใหญ่หรือปริมาณมาก ๆ ที่เกินกำลังมนุษย์ทำงานไหว และจะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ช่วยมนุษย์มากขึ้นจนเป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำงาน เราไม่สามารถที่จะหนียุคแห่งเทคโนโลยีได้ และไม่สามารถจะปฏิเสธการใช้งานได้ เพราะจะทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันไป ยกตัวอย่างตัวแทนขายที่จำเป็นต้องนำ AI มาช่วยในการทำงาน มีความต้องการอยากจะทราบว่ากลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าของกิจการเป็นใคร หากต้องไปย้อนอ่านธุรกรรมสิบปีย้อนหลังเป็นแสนหรือล้านรายการคงไม่สามารถทำได้ แต่หากมีผู้ช่วยเป็น AI ทุ่นแรงช่วยอ่านข้อมูล วิเคราะห์และสรุปผลให้ จะทำให้ตัวแทนขายสามารถทราบผลการวิเคราะห์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถทำการตลาดได้ตรงกลุ่มลูกค้า และช่วยส่งเสริมการขายได้ทันที ตำแหน่งงานตัวแทนขายก็ไม่ได้หายไป แต่เพิ่มตำแหน่งนักพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยเพิ่มเติมอีกด้วย

เมื่อความต้องการที่จะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าบริษัทคู่แข่งจำเป็นต้องเพิ่มทั้งการจ้างงานและค่าแรงมากยิ่งขึ้น จะทำให้ผู้ที่พัฒนาทักษะอาชีพผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น และเราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้สามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมในตลาดแรงงานได้ ความกังวลที่มีต่อ AI จะกลายเป็นความเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้มากยิ่งขึ้นและคลายความกังวลว่า AI จะมายึดครองโลกไปเพราะ AI กลายมาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มนุษย์ใช้ทำงานไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ต หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ทดแทนมนุษย์ แต่เข้ามาสร้างงานให้มนุษย์ และเมื่อมนุษย์สามารถใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ได้ทั่วถึง ความแตกต่างของผู้คุมเทคโนโลยีจะหายไป เพราะทุกคนจะสามารถใช้งานเพื่อประโยชน์ตามความสร้างสรรค์ของตัวเองได้ ไม่ต้องยึดติดกับผู้ให้บริการใด ๆ อีก

และสุดท้าย การรู้เท่าทันเทคโนโลยีจะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่า สิ่งที่เรากำลังพบเจออยู่นั้นเป็นความต้องการของเราจริงๆ หรือสิ่งที่ผู้ให้บริการเสนอให้ ปัจจุบันเรามีกฎหมายคุ้มครองที่มากพอ แต่ก็เราก็ปฏิเสธที่จะรับข้อมูลที่ผู้ให้บริการป้อนแก่เราไม่ได้จนกว่าเราจะเลิกใช้ ความน่ากลัว AI ของผู้ให้บริการจะมาครอบงำเราต้องหมั่นศึกษาให้รู้ทันการทำงานของเทคโนโลยีจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีไม่ให้เราต้องเป็นเหยื่อการชักจูงความสนใจได้

เนื้อหาโดย ปิยะพันธ์ วงมา
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์

แหล่งที่มา

Piyaphan Wongma

Business Analyst at Big Data Institute (Public Organization), BDI

© Big Data Institute | Privacy Notice