สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

การใช้ Big Data พลิกโฉมวงการเกมอย่าง Pokémon Go

Jul 29, 2021
ออกไปจับโปเกมอนกันเถอะ

“ออกไปจับโปเกมอนกันเถอะ!” 

หลายปีก่อน หลายท่านคงจำได้ถึงเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลก เรื่องที่บริษัท Niantic Labs ได้ทำให้ประโยคนี้มีชีวิตขึ้นมาจริง โดยการทำให้ตัวละครในเกมออกมาโลดแล่นอยู่บนโลกเสมือนจริง ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการเกมไปอย่างสิ้นเชิงของ Pokémon Go เกมบนโทรศัพท์มือถือที่มียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 1 พันล้านครั้ง1 และยังทำรายได้ไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท2!

ซึ่งหนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ของเกม Pokémon Go ก็คือ เทคโนโลยีที่เกมนี้นำมาใช้ เช่น เทคโนโลยี AR : Augmented Reality และระบบ Location Based เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อเก็บสะสมโปเกมอนและทำภารกิจต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่น ๆ รวมถึงเพื่อนของตนเองได้อีกด้วย

นอกจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานสร้างสรรค์เกมแล้ว Pokémon Go ยังมี การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งช่วยดึงดูดเหล่า Pokémon  Trainers ทุกช่วงวัย

จุดรวมพลยอดฮิตของเหล่า Pokémon  Trainers (สยามสแควร์)
จุดรวมพลยอดฮิตของเหล่า Pokémon  Trainers (สยามสแควร์)
โปเกมอนกับเทคโนโลยี AR : Augmented Reality และ Location Based 
เพื่อให้ดูเสมือนว่าโปเกมอนอยู่ในสถานที่จริง
โปเกมอนกับเทคโนโลยี AR : Augmented Reality และ Location Based
เพื่อให้ดูเสมือนว่าโปเกมอนอยู่ในสถานที่จริง

เรามาดูกันว่า Pokémon Go ใช้ประโยชน์จาก Big Data อย่างไรบ้าง

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์

Pokémon Go สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เล่นในการจำลองแผนที่ในเกมให้สอดคล้องกับแผนที่ในโลกแห่งความจริง ทำให้ผู้เล่นเสมือนกำลังเผชิญหน้ากับเหล่าโปเกมอนต่าง ๆ ณ สถานที่ที่ผู้เล่นกำลังยืนอยู่จริง ณ ขณะนั้น โดย Pokémon Go กำหนดให้ผู้เล่นต้องเปิด GPS ไว้ตลอดเวลาตอนที่เล่นเกม

ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจและดึงดูดผู้เล่นก็คือการที่ Pokéstop* และ Pokémon Gym** ถูกเลือกสรรให้ตั้งอยู่อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีการเลือกใช้ประติมากรรมและแลนด์มาร์คที่สำคัญ ๆ ของแต่ละพื้นที่มาเป็นที่ตั้ง

แผนที่ในเกมสอดคล้องกับโลกแห่งความจริง, Pokéstop, และ Pokémon Gym
แผนที่ในเกมสอดคล้องกับโลกแห่งความจริง, Pokéstop, และ Pokémon Gym

* Pokéstop คือ เสาสำหรับหมุนเพื่อรับไอเทมต่าง ๆ ในเกม
**Pokémon Gym คือ เสาขนาดใหญ่หรือยิมที่ผู้เล่นสามารถนำโปเกมอนมาต่อสู้และยึดครอง

คำถาม คือ “ในประเทศไทย จะเอาอะไรมาเป็นฐาน (Pokéstop และ Pokémon Gym) ให้ผู้เล่นเกมจะต้องเดินทางไปยังสถานที่จริงเพื่อทำการหมุนเสาดีล่ะ?”

magikarp
cubchoo

ใครจะไปคิดว่าแลนมาร์คหลัก ๆ ที่ถูกเลือกให้มาเป็น Pokéstop แจกไอเทมต่าง ๆ ก็คือสถานที่สุดขลังอย่างศาลพระภูมิของเรานั่นเอง ซึ่งที่มาของการเลือกศาลพระภูมินี้ก็มาจากการที่ Niantic Labs ผู้พัฒนาเกม Pokémon Go ใช้ประโยชน์ของข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีอยู่เมื่อตอนที่สร้างเกม Ingress มาลองตลาด ซึ่งนอกจากการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดิมแล้ว Niantic Labs ยังทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แบบ real time ดูการกระจุกตัวของคนในแต่ละพื้นที่ประกอบกับ feedback ที่ได้รับจากผู้เล่นเพื่อกำหนดจุดยุทธศาสตร์ของเกม

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เกมนี้ยังใช้คุณลักษณะต่าง ๆ ของพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย เช่น ถ้าต้องการจับโปเกมอนธาตุน้ำอย่าง Magikarp หรือ Goldeen คุณอาจต้องไปใกล้กับสถานที่ที่มีน้ำเพื่อเพิ่มโอกาสในการเจอ อีกทั้งยังอาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลพื้นที่คู่กับข้อมูลด้านเวลา เช่น โปเกมอนธาตุผีหรือธาตุพลังจิตมีโอกาสเจอได้มากกว่าตอนช่วงกลางคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้ ๆ บริเวณที่เป็นสุสาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้โปเกมอนบางสายพันธุ์สามารถพบได้ในประเทศที่มีหิมะตกและจะออกมาตอนช่วงหิมะตกเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่สำคัญของเกมนี้

การใช้ประโยชน์เพื่อทำการตลาดและเพิ่มรายได้

Pokémon Go มีการใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ประกอบกับข้อมูลแบบเรียลไทม์อื่น ๆ ของผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็น ‘ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้เล่นใช้เล่นเกม ระยะทางเฉลี่ยที่ใช้เดินทางในแต่ละวัน สถานที่ที่ผู้เล่นเดินทางไปประจำ โปเกมอนที่ผู้เล่นเลือกให้ไปยึด Pokémon Gym หรือไปสู้กับโปเกมอนของผู้เล่นคนอื่น หรือประวัติการซื้อของต่าง ๆ ในเกม’

ซึ่งทำให้ผู้พัฒนาเกมสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เล่นและวางแผนได้ว่าเวลาใด สถานที่ไหน ที่จะมีอัตราการซื้อไอเทมแต่ละชนิดสูง และควรจะออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะใด ปล่อยโปเกมอนชนิดไหน คิดแคมเปญหรือโปรโมชั่นลดราคาสินค้าตัวใดเพื่อที่จะล่อให้ผู้เล่นมาจ่ายเงินซื้อของในเกมให้ได้มากที่สุดหรือก็คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมเพื่อวางแผนการตลาดและสร้างรายได้ นั่นเอง

ตัวอย่างไอเทมที่สามารถซื้อได้ในเกม Pokémon Go
ตัวอย่างไอเทมที่สามารถซื้อได้ในเกม Pokémon Go
North Face x Gucci Pokéstop (ถนน Sloane เมือง London3) และ เสื้อ หมวกและกระเป๋า North Face x Gucci ภายในเกม
North Face x Gucci Pokéstop (ถนน Sloane เมือง London3) และ เสื้อ หมวกและกระเป๋า North Face x Gucci ภายในเกม

นอกจากการเลือกซื้อสินค้า ๆ ต่าง ๆ ในเกมแล้ว Pokémon Go ยังได้จับมือกับร้านค้าและแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่ต้องการเกาะกระแสของ Pokémon Go ไปด้วยกัน เช่น การออกโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าที่ผู้เล่นหลายคนผ่านเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งจับมือกับแบรนด์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Gucci และ North Face ซึ่งนอกจากจะได้โฆษณาแบรนด์ร่วมกันแล้ว ยังเป็นการหลอกล่อให้ผู้เล่นที่อยากสะสมไอเทมเหล่านี้ไปหมุน Pokéstop ที่ตั้งอยู่หน้าร้าน Gucci เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าจากร้าน Gucci อีกด้วย

กระเป๋าลายโปเกมอนจากร้าน Longchamp4
กระเป๋าลายโปเกมอนจากร้าน Longchamp4

นอกจากนี้ Pokémon  Go ยังจับกลุ่มแบรนด์สินค้าที่ราคาจับต้องได้มากกว่าอย่าง Uniqlo หรือ Longchamp โดยร่วมกันผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าที่สวมใส่ได้จริงทั้งในเกมและนอกเกม โดยยังไม่นับรวมถึงสินค้าอื่น ๆ ที่ Pokémon  Go ผลิตเองโดยตรงเพื่อให้เหล่าสาวก Pokémon Go ทั้งหลายมาเลือกซื้อกัน โดยสินค้าที่เลือกผลิตนี้ ก็มาจากข้อมูลในเกมที่บริษัทได้มาจากผู้เล่นเองโดยตรงนั่นล่ะ ว่าผู้เล่นชอบสะสมโปเกมอนตัวไหน

บทส่งท้าย

Writer และ Editor ก็ชื่นชอบเกม Pokémon Go และเป็นเหยื่อการตลาดด้วยนั่นเอง (ของที่ซื้อจาก Pokémon Center Tokyo และ Uniqlo)
Writer และ Editor ก็ชื่นชอบเกม Pokémon Go และเป็นเหยื่อการตลาดด้วยนั่นเอง (ของที่ซื้อจาก Pokémon Center Tokyo และ Uniqlo)

ตอนนี้ผู้อ่านทุกท่านคงเห็นภาพแล้วว่า Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญต่อการพัฒนาเกมอย่างไร นอกจากจะทำให้ผู้เล่นอยากเล่นเกมต่อแล้ว ยังทำให้ผู้เล่นเต็มใจในการจ่ายเงินซื้อของต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งก็มาจากการใช้ประโยชน์ของข้อมูลพฤติกรรมของผู้เล่นเองได้อย่างแนบเนียนประกอบกับข้อมูลรอบตัวอย่างข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ผลักดันให้เกมน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ถึงแม้เกม Pokémon Go จะเปิดตัวออกมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ก็ยังคงมีผู้เล่นจำนวนมากขึ้นและทำรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

สุดท้ายนี้ อยากจะชวนให้ทุกท่านลองสังเกตดูว่า ทุกวันนี้เหล่าผู้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รู้ได้ยังไงว่าผู้บริโภคจะชอบอะไร มีข้อมูลอะไรที่ได้จากเราไปบ้างโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว และได้ข้อมูลไปทางไหนกันบ้างนะคะ

แหล่งอ้างอิง

1 https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_most-played_mobile_games_by_player_count

2 https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_highest-grossing_mobile_games

3 https://www.dexerto.com/Pokémon /how-to-get-free-gucci-x-north-face-avatar-items-in-Pokémon -go-1489761/

4 https://lofficielthailand.com/2020/09/longchamp-x-pokemon/

อื่นๆ

https://www.softwareadvisoryservice.com/en/industry-updates/pokemon-go-and-big-data/

https://www.businessofapps.com/data/pokemon-go-statistics/

https://arstechnica.com/gaming/2020/03/pokemon-go-adjusts-to-the-quarantine-era/

Napassawan Pasuthip

Vice President, Big Data Business Promotion (BBP) at Big Data Institute (Public Organization), BDI

© Big Data Institute | Privacy Notice