สู้ศึก COVID-19 เชิงรุกด้วย Big Data
หลังจากที่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นระยะๆ เดินทางมาจากประเทศจีน (วันที่ 20 ม.ค. 2563) ไต้หวันได้เปิดศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดของโรคกลาง (CECC) อย่างเป็นทางการภายใต้ NHCC โดยมี รมว.สาธารณสุขและสวัสดิการเป็นผู้บัญชาการ CECC ประสานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อเป็นเอกภาพในการทำงาน
จากเหตุการณ์ระบาดทั่วโลกของไวรัสโคโรนา ไต้หวันซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศจีนและมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศจำนวนมาก เกิดได้รับการชื่นชมจากชาวโลกในเรื่องของการนำเทคโนโลยี Big Data เข้ามาใช้รับมือกับไวรัสโคโรนาจนได้ผลรับที่ดี มีการแพร่ระบาดในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก
รัฐบาลไต้หวันได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลประกันสุขภาพของประเทศ รวมเข้ากับฐานข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองและฐานข้อมูลศุลกากร เพื่อเริ่มสร้างข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับวิเคราะห์ สร้างระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยระบุตัวตนของผู้ป่วยจากประวัติการเดินทาง
นอกจากนี้ทางทีมงานข้อมูลของรัฐบาลยังใช้ QR code เทคโนโลยียุคใหม่ ในการรายงานประวัติการเดินทางออนไลน์และอาการทางสุขภาพ เพื่อจำแนกความเสี่ยงด้านการติดเชื้อของผู้เดินทางตามแหล่งกำเนิดเที่ยวบินและประวัติการเดินทางในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกกักกันที่บ้านและติดตามอาการผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะอยู่บ้านในช่วงระยะเชื้อฟักตัวโดยการจัดหาอาหาร การตรวจสุขภาพและการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ถูกกักกัน
ไต้หวันยังใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการปฏิบัติงานแบบเชิงรุก โดยการค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงจากข้อมูลจากฐานข้อมูลประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วนำมาทดสอบ COVID-19 อีกครั้งเพื่อยืนยันสถานะของการติดเชื้อ
ในช่วงวิกฤติ รัฐบาลมักเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ภายใต้ข้อจำกัดและความไม่แน่นอน การมีหน่วยบัญชาการกลางที่มีข้อมูลในการตัดสินใจที่ถูกต้อง ครอบคลุมและรวดเร็วจะทำให้รัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ด้วยการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้องและโปร่งใสเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนักของประชาชน ซึ่งไต้หวันเป็นตัวอย่างของการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อทำการตัดสินใจและสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
เรียนรู้จากอดีตและมีการวางแผนการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในอนาคต
การที่ไต้หวันตื่นตัวกับโรคระบาดอยู่ตลอดเวลาส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดย 1 ปีหลังการระบาดของโรคซาร์ส รัฐบาลไต้หวันจัดตั้งศูนย์สุขภาพแห่งชาติ (NHCC) ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์จัดการภัยพิบัติที่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ พร้อมทำหน้าที่เป็นจุดสั่งปฏิบัติการสำหรับการสื่อสารโดยตรงระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น NHCC ได้รวมระบบบัญชาการกลาง ซึ่งรวมถึงศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดของโรคกลาง ศูนย์บัญชาการภัยพิบัติทางชีวภาพ ศูนย์บัญชาการต่อต้านการก่อการร้ายทางชีวภาพและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์กลาง ดังนั้นจะเห็นว่าไต้หวันมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะจัดเก็บข้อมูลอย่างไรและไว้ที่ไหนเพื่อสามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์หรือจำลองเหตุการณ์เพื่อดูผลกระทบและรูปแบบการกระจายตัวของไวรัสตัวใหม่ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับตัวเก่า การมีข้อมูลในอดีตที่คล้ายกับสถานการณ์ปัจจุบันจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือนักวิจัยสามารถสร้างแบบจำลองที่จะมีประโยชน์กับการตัดสินใจอย่างยิ่งเพราะเราสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาตคอันใกล้ได้อย่างแม่นยำขึ้น
ที่มาภาพ:
ที่มา: