Echo Chamber: เมื่อ AI เก่งขึ้น กลับยิ่งทำให้คุณอยู่ในกะลา
ในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า ที่การค้นหาข้อมูลข่าวสารอะไรก็ทำได้เพียงแค่ขยับนิ้ว ทำไมความคิดของผู้คนถึงยังไม่เปิดกว้างไม่ต่างจากในอดีต Social Media ที่เหมือนจะเชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้คนรับข่าวสารเพียงในวงเล็ก ๆ ของตัวเอง ปัญหา Echo Chamber ยิ่งทวีคูนขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว AI จะมาช่วยให้เราหลุดจากกะลา หรือจะยิ่งตอกตะปูไม่ให้เราขยับออกไปไหนได้กันแน่
Echo Chamber คืออะไร ?

Echo Chamber แปลตรงตัวก็คือห้องเสียงสะท้อน นั้นหมายถึงสถานการณ์ที่คนจะได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน เป็นปัญหาที่เกิดจากการปิดกั้นข้อมูลที่แตกต่าง และรับฟังแต่เรื่องเดิม ๆ นาน ๆ ไปอาจจะทำให้เราหลงเชื่อว่าสิ่งที่เราคิด เป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ไปได้
ถ้าพูดถึงเรื่อง Echo Chamber ในยุคปัจจุบัน ก็คงจะต้องพูดถึง Social Media ซึ่งนับว่าเป็นตัวเร่งปัญหานี้หลัก ๆ เนื่องจาก Social Media มีระบบที่เอื้อให้เกิดการจับกลุ่มที่ชอบสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Group หรือการ Follow จึงทำให้เกิดการแชร์ข่าวสารเฉพาะเจาะจงภายในกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้คนในกลุ่มก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที ซึ่งทางทฤษฎีเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดการถกเถียงที่เกิดประโยชน์ขึ้นจากการตอบโต้กัน แต่ในทางปฏิบัติ ความคิดเห็นที่เป็นส่วนน้อยของกลุ่มมักจะถูกกด Dislike ถูกเรียงลำดับไว้ล่าง ๆ หรือบางทีอาจจะถูกลบโดยแอดมินกลุ่มด้วยซ้ำ ผลก็คือคนในกลุ่มก็จะมองเห็นแต่ความคิดเห็นที่สนับสนุนความคิดของตัวเอง กลายเป็นกะลาที่ครอบคนในกลุ่มไว้โดยไม่รู้ตัว
ในบทความนี้ ผมจะไม่พูดถึงผลของ Social Media เนื่องจากมีหลายบทความที่ได้พูดถึงประเด็นนี้แล้ว (ตัวอย่าง techsauce.co, marketingoops.com, songsue.co) แต่จะพูดถึงผลของ AI ที่มีต่อการเกิด Echo Chamber ครับ
AI ส่งผลอย่างไรต่อ Echo Chamber ?
ผลกระทบหลัก ๆ ของ AI ต่อปัญหานี้ เกิดจากระบบ Recommender ที่ทำให้สามารถคัดเลือกข้อมูลให้ผู้ใช้แต่ละคนได้ในแบบ personalized ( ใครยังไม่คุ้นกับ Recommender สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ) กล่าวคือ คอนเทนต์ที่แต่ละคนได้รับ จะเป็นคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคุณคนเดียวไม่เหมือนใคร โดย AI จะเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับคุณจากประวัติการใช้งานของคุณ และข้อมูลประกอบอื่น ๆ ของคุณ เช่น สถานที่ที่คุณอยู่ การกด Like หรือ Follow เป็นต้น
ตัวระบบ Recommender นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา Echo Chamber แต่ Recommender จะสามารถเร่ง ปัญหานี้ให้เกิดเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก Echo Chamber เกิดขึ้นเสมอเมื่อคุณสามารถเลือกเสพข้อมูลได้ เช่น การกดรีโมทเลือกช่องบนโทรทัศน์ ก็ทำให้เกิด Echo Chamber ได้แล้ว ต่างกันแค่รายการในโทรทัศน์ช่องหนึ่ง จะมีความหลากหลายในคอนเทนต์อยู่บ้าง เนื่องจากไม่มีโทรทัศน์ช่องไหนที่ทำคอนเทนต์มาสำหรับคุณคนเดียว แต่สิ่งที่ Recommender แนะนำให้คุณ จะมีแต่สิ่งที่คุณสนใจเท่านั้น

จากการศึกษาจากข้อมูลของเว็ปไซต์ MovieLens ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับแนะนำภาพยนตร์ ที่ใช้ Recommender อัลกอริทึมแบบ item-item collaborative filtering ผู้วิจัยพบว่าความหลากหลายของภาพยนตร์ที่แพลตฟอร์มแนะนำผู้ใช้ และความหลากหลายของภาพยนตร์ที่ผู้ใช้ดู นั้นน้อยลงเรื่อย ๆ ตามเวลา (อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่ ) หลายคนอาจจะแปลกใจ คิดว่าแพลตฟอร์มแนะนำภาพยนตร์น่าจะทำให้เราดูภาพยนตร์หลากหลายขึ้น เพราะมีระบบที่บอกว่าคุณชอบเรื่องนี้ น่าจะลองอีก 10 เรื่องนี้นะ (ซึ่ง MovieLens ก็มีระบบนี้)
ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่การใช้ Recommender เป็นเวลานานจะทำให้ความหลากหลายของสิ่งที่สนใจนั้นน้อยลง ในช่วงแรกคุณอาจจะไปเจอภาพยนตร์หลาย ๆ อย่างที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่คุณสนใจ แต่เมื่ออัลกอริทึมเริ่มมั่นใจแล้วว่าคุณสนใจภาพยนตร์ประเภทไหน สิ่งที่ถูกแนะนำก็จะมีแต่แนวที่คุณชอบ ไม่เปิดโอกาสให้คุณได้ลองภาพยนตร์แนวใหม่ ดังนั้น ถ้าหากคุณเลือกดูภาพยนตร์จากผล Recommender อย่างเดียว สิ่งที่คุณจะดูก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามเวลา
Recommender จะลดโอกาสที่คุณจะเจออะไรใหม่ ๆ โดยบังเอิญ เพราะทุกอย่างที่แนะนำให้คุณเกิดจากผลจากคำนวณของ AI และจะไม่มีอะไรที่แสดงบนหน้าจอของคุณโดยบังเอิญเลย

เอ๊ะ ถ้า Recommender เลือกแต่สิ่งที่เราชอบ เร่งให้เกิด Echo chamber ถ้างั้นเราจะออกแบบ AI ที่ทำงานสวนทางกัน แนะนำสิ่งใหม่ ๆ ให้เราเรื่อย ๆ เพื่อลดปัญหานี้ได้หรือเปล่า ?
ผมมั่นใจมากว่า ในทางเทคนิคเราทำได้ เช่น เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้ของ AI จากเดิมที่ Recommender จะพยายามเลือกรายการที่เราชอบมากที่สุด ให้กลายเป็นระบบที่ AI จะเลือกรายการที่เราชอบพอประมาณ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มว่าต้องแตกต่างจากสิ่งที่เราดูอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาจะอยู่ที่ไม่มี use case ที่ต้องการระบบแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผู้ทำแพลตฟอร์มต้องการมีสิ่งเดียวคือ การเลือกคอนเทนต์ที่ถูกใจลูกค้ามากที่สุดนั่นเอง
แล้วเราจะออกจาก Echo Chamber ได้อย่างไร ?
อย่างแรกก็คือ เราต้องตระหนักว่าเราทุกคนมีโอกาสอยู่ใน Echo Chamber สูงมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก Echo Chamber ส่วนมากจะเกิดจากคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในนั้น ดังนั้น เพียงแค่เรารับรู้ และคอยคิดเสมอว่าข้อมูลที่เราได้รับทุกอย่าง อาจจะผิด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด เราก็จะสามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่มีปัญหา
การรับรู้ถึงปัญหา ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตภายใน Echo Chamber ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราออกจาก Echo Chamber ถ้าเราอยากจะออกจากกะลาจริง ๆ ล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็น่าจะรู้ว่าออกจาก Echo Chamber หมายถึงเราต้องรับฟังข่าวสาร และความคิดเห็นด้านอื่น แต่ในเมื่อ Recommender AI ที่มีใน Social Media ไม่ได้ช่วยให้รับรู้ข่าวสารจากนอกวงที่เราสนใจได้ง่ายขึ้นเลย เราพอจะมีเครื่องมืออย่างอื่นที่ช่วยเราได้ไหม ?
AI นั้นคือโปรแกรมที่สามารถเรียนรู้ได้ เราอยากเห็นคอนเทนต์แบบไหน เราก็ต้องสอน AI ให้รู้ว่าเราสนใจคอนเทนต์แบบนั้น วิธีสอน Recommender AI เพื่อช่วยให้เราออกจาก Echo Chamber ก็คือการกดเข้าไปดูคอนเทนต์ที่หลากหลาย และที่สำคัญต้องเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ใช่สิ่งที่ AI แนะนำเรามา แพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะมีเครื่องมือในการสำรวจหาคอนเทนต์ที่ไม่ได้มาจาก Recommender อยู่แล้ว เช่น แถบ Explore ของ YouTube หรือ Trending ใน Twitter


แต่ ๆ ๆ ๆ
ก็จะมีปัญหาอีกอย่างคือ คอนเทนต์บนหน้า Explore หรือ Trending นั้น มีโอกาสสูงที่จะเป็นสิ่งที่เราไม่สนใจ หรือเป็นความคิดเห็นที่ต่างกันเกินไปจนเราไม่อยากที่จะคลิกเข้าไปด้วยซ้ำ จะให้คนเชียร์ Republican อยู่ดี ๆ ไปดูวีดีโอเชียร์ Democrat เลยก็คงยาก โจทย์หลัก ๆ ตอนนี้ก็คือเราต้องการคอนเทนต์แนวใหม่ ๆ แต่ต้องไม่ห่างจากสิ่งที่เราชอบมากเกินไป
ผมพยายามหาสิ่งที่ตอบโจทย์ข้างต้นมาสักระยะหนึ่ง ก็ได้เจอกับฟีเจอร์ “New to you” ของ YouTube ซึ่งถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนมาก โดยจะมีปุ่ม “New to you” อยู่บนแถบที่อยู่ใต้ Search bar และต้องกดลูกศร > หรือเลื่อนไปทางขวาสุด ตามรูปด้านล่าง (ต้อง sign in ก่อนถึงจะเห็น)

(ภาพซ้ายไม่ได้ sign in เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้เขียน)
ฟีเจอร์นี้มีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 โดย YouTube ได้ทำปุ่มนี้ขึ้นเพื่อช่วยช่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ให้มีโอกาสแข่งขันกับช่องใหญ่ ๆ โดยจะใช้ AI เพื่อจัดลำดับคอนเทนต์ที่คล้ายกับสิ่งที่คุณสนใจ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมาจากช่องที่คุณไม่เคยดูมาก่อน หรือไม่ได้ดูมานานแล้วเท่านั้น
ถึงฟีเจอร์นี้จะไม่ได้ทำมาตอบโจทย์ของเราเสียทีเดียว แต่ก็พอให้คำตอบที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากได้ เนื่องจากการดูช่องที่ไม่เคยดูมาก่อน ก็จะช่วยขยายสิ่งที่อัลกอริทึมคิดว่าเราสนใจ การ recommend ครั้งต่อไปก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ผมเองก็ได้ลองใช้ฟีเจอร์นี้มาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็พบว่าหน้า Home ของ YouTube ของผมเปลี่ยนไปมากพอสมควรครับ
Afterword
AI สามารถทำได้ทั้งเร่ง และลดการเกิด Echo Chamber แต่แพลตฟอร์ม Social Media ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการนำเสนอข้อมูลที่ตรงใจผู้ใช้มากที่สุด จึงทำให้มีแต่การเร่งให้เกิดปัญหาจาก Echo Chamber ที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ใช้ต้องตระหนักรู้ถึงความเป็นไปได้ที่ตัวเองจะตกอยู่ใน Echo Chamber เสมอ และคอยเตือนตัวเองไว้ตลอดเวลา
ในระยะหลัง ๆ ผมเริ่มเห็นแพลตฟอร์ม Social Media มีความสนใจที่จะแก้ปัญหาทางสังคมมากขึ้น ผมก็หวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหานี้จากฝั่งผู้พัฒนาในอนาคต ในปัจจุบันผมอยากให้ผู้อ่านที่ใช้ YouTube ลองใช้ฟีเจอร์ที่ผมแนะนำดู หรือถ้าใครรู้ว่ามีฟีเจอร์อื่น ๆ หรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ ก็แชร์ความรู้กันได้นะครับ
เขียนโดย พชร วงศ์สุทธิโกศล
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นนทวิทย์ ชีวเรืองโรจน์