รถ Formula 1 เครื่องผลิตข้อมูลที่วิ่งได้กว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Formula 1 คือ
การแข่งรถ Formula 1 หรือ F1 ซึ่งเป็นการแข่งขันความเร็วของรถยนต์ที่แต่ละค่ายบริษัทรถยนต์พัฒนาขึ้น ถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีความนิยมสูงที่สุดในโลก โดยทั่วไปความเร็วของรถแข่งใน F1 เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถแข่งแต่ละคันสามารถทำความเร็วจากหยุดนิ่งให้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที จึงอาจถือได้ว่านี่คือศึกประลองความเร็วของที่แท้จริง อย่างไรก็ดีการตัดสินผู้ชนะในกีฬา F1 มีหลากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่ว่าทีมที่มีรถยนต์ที่เร็วที่สุดในสนามจะเป็นผู้ชนะเสมอไป แต่ฝีมือของนักขับ ระบบของทีม การวางแผนของหัวหน้าทีม และปัจจัยอีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในระหว่างการแข่งขันล้วนแล้วสามารถกำหนดผู้ชนะได้ทั้งสิ้น
การพัฒนารถด้วยข้อมูล

การประเมินประสิทธิภาพของรถยนต์ F1 นั้นมีหลากหลายส่วนที่ต้องพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น ความเร็วต่อรอบ ความเร็วสูงสุด การเสื่อมสภาพของยางรถ หลักการแอโรไดนามิค (Aerodynamics) และพลังงานรถยนต์ เป็นต้น ด้วยความที่แต่ละปัจจัยภายในตัวรถล้วนส่งผลต่อกัน การประเมินประสิทธิภาพของรถยนต์ F1 แต่ละคันจึงมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถยนต์ F1 จะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ราว 300 ตัวสำหรับรถคันหนึ่ง ๆ สำหรับรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวรถ ขนาดข้อมูลทั้งหมดที่ถูกรวบรวมตลอดหนึ่งสนามการแข่งขันของ F1 หนึ่งคันรวมกว่า 1.5 terabytes โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาคัดกรองและวิเคราะห์เพื่อที่จะประเมินประสิทธิภาพของรถในการแข่งขัน ทำให้ทีมแข่ง F1 สามารถตัดสินใจและวางแผนกลยุทธ์ระหว่างการแข่งขันได้อย่างถี่ถ้วน
ข้อมูล 11.8 ล้านล้านจุดข้อมูล (Data Point) ได้มีการถูกใช้เพื่อเข้าใจว่ารถ F1 ณ ชั่วขณะนั้นมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีการจะพัฒนารถ F1 นั้นมีอะไรมากกว่าแค่ปริมาณข้อมูลที่มหาศาล ทีมแข่ง F1 ต้องมีการใช้โลกเสมือน (Virtual World) หรืออาจเรียกกันว่า Digital Twin ในการออกแบบรถยนต์ โดยวิศวกรออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์จะสร้างชิ้นส่วนจำลองสเกลหนึ่งต่อหนึ่งบนระบบคอมพิวเตอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า Computer Aided Design (CAD) หลังจากนั้นทางทีมวิศวกรจะทำการสร้างโลกเสมือน เพื่อจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนที่ได้จำลองไว้และคำนวณรูปแบบการไหลของอากาศรอบชิ้นส่วนจำลอง ในขั้นตอนนี้จะเรียกว่า Computational Fluid Dynamics (CFD) นำไปสู่ปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการคำนวณการไหลเวียนของลมที่ละเอียดในระดับลูกบาศก์เซ็นติเมตรรอบตัวรถ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่า Post-CFD ซึ่งเป็นการตัดสินใจว่าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผ่านการทดลองบนโลกเสมือนจริง เหมาะสมที่จะถูกสร้างขึ้นมาหรือไม่ ก่อนจะสร้างชิ้นส่วนดังกล่าวด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อประกอบเป็นตัวรถสมบูรณ์ในขั้นต่อไป
การบริหารจัดการข้อมูล

จำนวนข้อมูลมหาสารที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อม ในการแข่งขัน รวมไปถึงการพัฒนารถยนต์ ต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ เอ็ดเวิร์ด กรีน (Edward Green) หัวหน้าทีมเทคโนโลยี ทีมแข่ง F1 ของ McLaren ได้กล่าวไว้ว่าการที่ข้อมูลมีจำนวนมหาศาลและมาจากหลากหลายแหล่งพร้อม ๆ กัน ทางทีมจำเป็นต้องหาวิธีจัดการและบริหารมัน และที่ท้าทายไปมากกว่านั้น สมาชิกภายในทีม F1 แต่ละคนล้วนมีความต้องการเห็นและใช้ข้อมูลในลักษณะที่แตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้ทางทีมเลยมีการใช้ Software ที่ชื่อ Alteryx ในการทำแพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (Data Automation Platform) ด้วย Alteryx นี้เองทำให้ทางทีมไอทีสามารถรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายที่มารวมเข้าด้วยกันและสร้างการวิเคราะห์หรือโมเดลคณิตศาสตร์ที่หลากหลายให้ตอบโจทย์การใช้งานที่เฉพาะทางสำหรับแต่ละสมาชิกภายในทีม F1
พิทสต๊อป (Pit Stop)

ในการแข่งขันความเร็วของรถ F1 ไม่ได้แข่งขันกันที่ความสามารถของคนขับและความเร็วของรถเท่านั้น แต่จะแข่งกันที่ความเร็วที่ทางทีมทำพิทสต็อป (Pit Stop) ด้วย
พิทสต็อป คือ การหยุดรถเพื่อซ่อมแซมรถระหว่างการแข่งขัน ดังนั้นพิทสต็อปจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการแข่งขันที่แข่งกันด้วยความเร็ว เพราะเมื่อถึงเวลาที่นักแข่งขับเข้าพิท นั่นหมายความว่ารถต้องหยุดนิ่งจนกว่าการซ่อมแซมจะเสร็จ แต่เวลาของการแข่งขันไม่ได้หยุดไปด้วย นั่นก็แปลว่าถ้าทำพิทสต๊อปได้ช้า ก็อาจโดนคู่แข่งทีมอื่นแซงได้ ซึ่งการแข่ง F1 นั้นมีกฎให้รถจะต้องเข้าพิทสต็อปอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสนามแข่งขัน
เนื่องจากทุกวินาทีสำคัญมาก ๆ เวลาในการที่ทีมซ่อมแซมรถในพิทสต๊อปสามารถตัดสินผลแพ้ชนะได้เลย ดังนั้นทีมแข่ง F1 ชื่อ Williams Racing ได้มีการศึกษาวิดีโอย้อนหลังการทำพิทสต๊อปและเก็บรวบรวมข้อมูลจากรถและอุปกรณ์ซ่อมรถ นอกเหนือไปกว่านั้นทางทีมได้มีการติดเซ็นเซอร์ให้กับทีมงานที่รับผิดชอบในการซ่อมรถของทีม เพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจ ระยะเวลาการฟื้นตัว และ อัตราการหายใจ โดยทางทีม Williams จะใช้ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาในการใช้ Optimize ระบบในการทำพิทสต็อปของทีมเพื่อทำความเร็วสูงสุด
ไม่ใช่แค่ทีมแข่ง Formula 1 ที่ใช้ข้อมูล

นอกเหนือจากทีมแข่ง F1 ที่ใช้ข้อมูลในการพัฒนาความเร็วในการแข่งขันแล้ว ทางผู้จัดการแข่งขัน F1 หรือ Federation Internationale de l’Automobile (FIA) ก็มีการใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมการแข่งขันให้กับแฟนกีฬาแห่งความเร็วอีกด้วย ผ่านการใช้ข้อมูลมาแสดงออกมาเป็นกราฟิกที่เข้าใจง่าย ทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงข้อมูลสถานะต่าง ๆ ระหว่างการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นความเร็วของรถยนต์ในแต่ละคัน ระยะห่างระหว่างผู้นำกับผู้ตาม หรือ กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่แต่ละทีมใช้ในการแข่ง ถือเป็นวิธีที่เพิ่มยอดคนดูถ่ายทอดสดที่ได้ผลเป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าข้อมูลในการแข่งขันรถ F1 นั้นมีมากมายและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนารถยนต์ ข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันในแต่ละสนามแข่ง ข้อมูลการซ่อมแซมรถ รวมไปถึง ข้อมูลที่ผู้จัดการแข่งขันใช้เพื่อบอกสถานะการณ์ของการแข่งขัน ข้อมูลในแต่ละกระบวนการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่สร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งวงการที่มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้วงการอื่นเลยทีเดียว
บทความโดย อรรถวิท ตุลยธัญ
ตรวจทานและปรับปรุงโดย พีรดล สามะศิริ และ ปพจน์ ธรรมเจริญพร
Reference