สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

IoT กับ Big Data

Jul 5, 2021

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อินเทอร์เน็ตมีบทบาทในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ได้มีเพียงแค่คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง โทรทัศน์ ตู้เย็น นาฬิกา หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปก็สามารถที่จะต่ออินเทอร์เน็ตได้ สิ่งเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับคำว่า IoT (Internet of Things) หรือบางครั้งจะมีคำว่า Big Data ต่อท้าย ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยินกันตามโฆษณา บทความนี้จึงอยากขอเล่าเรื่องว่า IoT กับ Big Data คืออะไร เหมือนกันหรือไม่ แล้วตอนนี้เราพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีนี้แล้วหรือยัง

IoT (Internet of Things) คืออะไร

Internet of Things (IoT) กล่าวได้ว่า เป็นแนวคิดทางเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ปี 1990 เกี่ยวกับการที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกติดตั้งด้วยเซนเซอร์ โปรแกรม หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อกัน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้แต่ละอุปกรณ์สามารถสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะส่งคำสั่ง เพื่อควบคุมอุปกรณ์อื่น ๆ ภายใต้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย อุปกรณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแค่ คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน เท่านั้น แต่อาจจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก อย่างเช่น หลอดไฟ ไปจนถึงอุปกรณ์ขนาดใหญ่ อย่างเช่น ตู้เย็น หรือบางทีแม้กระทั้งเครื่องแต่งกายหรือภาชนะก็สามารถเป็นอุปกรณ์ IoT ได้ด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Embedded System

IoT มีประโยชน์อย่างไร

การที่อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ หรือสามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ได้ มีประโยชน์ในหลายมิติ เช่น การเข้าถึงข้อมูลของอุปกรณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง ทำให้สามารถแสดงข้อมูล ควบคุมอุปกรณ์ หรือจัดการทางระยะไกลแบบ real time ได้จากทั่วทุกมุมของโลก ข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลที่มีการอัพเดทตลอดเวลา ซึ่งประโยชน์นี้ไม่ใช่เพียงแค่องค์กรขนาดใหญ่หรือในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะได้รับ แม้แต่ผู้ใช้ทั่วไปที่อยู่ตามบ้านที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ถึงแม้ IoT จะสามารถก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ได้มากมาย และสามารถช่วยลดต้นทุนในภาคธุรกิจได้ แต่อย่างไรก็ตาม IoT ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไม่ให้ถูกเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่นั้น มีความเป็นส่วนตัวหรือส่วนบุคคล และสามารถถูกติดตามได้ตลอดเวลา จึงต้องมีการพัฒนาในส่วนนี้ต่อไป

ตัวอย่างของ IoT

  • Smart Home เช่น เซนเซอร์วัดสภาพแวดล้อมในบ้าน การใช้ไฟฟ้า หรือ กล้องวงจรปิด
  • Smart City เช่น การตรวจสภาพจราจร ตรวจสภาพอากาศ หรือ การจัดการที่จอดรถ
  • ด้านการผลิตไฟฟ้า เช่น การตรวจกำลังการผลิต
  • ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ คลื่นหัวใจ
  • ด้านการขนส่ง เช่น การติดตามการขนส่งสินค้า
  • ด้านการเกษตร ในการวัดอุณหภูมิ ความชื้น สภาพอากาศของพืช

IoT เกี่ยวอะไรกับ Big Data

IoT ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายนั้น ไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อของอุปกรณ์หลักสิบหรือหลักร้อย  แต่ในโลกของความเป็นจริง มีเป็นหลักหมื่นขึ้นไป ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในปี 2021 ประมาณ 3.5 หมื่นล้านชิ้นทั่วโลก อุปกรณ์ IoT พวกนี้จะทำการสร้างข้อมูลทุกชั่วโมง ทุกนาที หรืออาจจะทุกวินาทีตามความต้องการ บางครั้ง ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังมีหลากหลายประเภท เช่น มาจากทางการเกษตร อุตสาหกรรม สาธารณสุข จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ข้อมูลที่อยู่ภายใต้เครือข่าย IoT นั้น มีจำนวนมากและหลากหลาย ดังนั้น จึงต้องมีการใช้เทคนิคทาง Big Data เพื่อจัดการกับข้อมูลประเภทนี้

ลักษณะข้อมูลจาก IoT

ข้อมูล IoT ถือว่าเป็น Big Data แบบหนึ่งในลักษณะของปริมาณที่มาก และมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลที่ถูกสร้างจาก IoT จะมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นดังนี้

  • ข้อมูลที่ถูกสร้างจาก IoT นั้น มาจากหลากหลายช่องทาง มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายประเภท และไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน เนื่องจากว่า เซนเซอร์มีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัว บางครั้งก็มีรอบการเก็บข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน เช่น เก็บเป็นชั่วโมง หรือ วินาที ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ว่าอยากให้มีความ real time มากน้อยเพียงใด
  • ข้อมูลมีปริมาณมาก เนื่องจากการที่อุปกรณ์ IoT สร้างข้อมูลออกมาโดยอัตโนมัติตามกำหนดเวลาอยู่แล้ว ข้อมูลที่ได้จึงมีปริมาณมากแม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ และมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ถ้ามีปริมาณของข้อมูลที่มากพอ
  • ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บและวิเคราะห์แบบ real time และถือว่าเป็นข้อมูลแบบ time series โดยที่ มักจะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งแตกต่างกับข้อมูลขนาดใหญ่ส่วนมาก ที่จะทำการเก็บข้อมูลมาก่อนแบบรายวันหรือรายเดือนแล้วค่อยมาวิเคราะห์

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี Big Data ใน IoT

เนื่องจาก IoT เป็นข้อมูล Big Data จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทาง Big Data เพื่อใช้ในการเก็บและประมวลผล เช่น เครือข่าย IoT จะทำการสร้างข้อมูลดิบจากอุปกรณ์หรือเซนเซอร์ และถูกจัดเก็บในที่จัดเก็บข้อมูลรวมที่เรียกว่า Data Lake โดยที่ภายในจะเก็บทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้าง เช่น ข้อมูลของลูกค้า และ ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง เช่น ข้อมูลบน Social Media หลังจากนั้น มีการใช้ประโยชน์ของ Big Data Analytics มาเพื่อใช้ในการสร้างรายงานและแผนภาพจากข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ใน Data Lake หรือที่เรียกว่าการทำ Business Intelligence (BI) นอกจากนี้ ยังอาจมีการใช้ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล IoT ที่มีจำนวนมากและหลากหลาย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำและเป็นแบบ real time โดยไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์มานั่งวิเคราะห์

เตรียมพร้อมกับการมาของ IoT

การมาของ IoT ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนของพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้เกิดช่องทางทางธุรกิจใหม่ ๆ บริการใหม่ ๆ ในแวดวงนี้ หรือแม้แต่อุปกรณ์ใหม่ ๆ ซึ่งในอนาคต เป็นไปได้ว่าทุกคนจะมีอุปกรณ์ IoT มากขึ้น อาจจะถึง 10 ชิ้น เลยทีเดียว การเติบโตขึ้นของอุปกรณ์ที่ฉลาดขึ้นนี้ จะทำให้เกิดการลงทุน และความจำเป็นต้องเตรียมระบบเพื่อรองรับการเติบโตนี้ ระบบที่พูดถึงนี้ หมายความรวมตั้งแต่ ระบบเซนเซอร์ อุปกรณ์ IoT โครงข่ายอินเทอร์เน็ต ระบบ Cloud Storage และระบบ AI เป็นต้น

สุดท้ายนี้ การมาของ IoT จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ในอนาคต และกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถึงแม้ว่า IoT จะสามารถช่วยสร้างความสะดวกหลายอย่าง ทั้งในด้านธุรกิจ ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา ในทางกลับกัน ความสะดวกเหล่านี้อาจจะนำมาซึ่งผลเสียต่อความเป็นส่วนตัวหรือความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ได้เช่นเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง

https://www.iotacommunications.com/blog/iot-big-data/

https://www.soracom.io/blog/what-is-the-relationship-between-iot-and-big-data/

https://builtin.com/big-data/iot-big-data-analytics-examples

https://www.tiempodev.com/blog/real-time-processing-of-data-for-iot-applications/

Kusapon Phetsuwan

ไม่พบข้อมูลตำเเหน่ง

© Big Data Institute | Privacy Notice