สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

งานวิจัยบ่งชี้ อาจมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าที่รายงานอยู่หลายเท่าตัว

Apr 7, 2020

งานวิจัยล่าสุดจากสหรัฐอเมริกาได้มีข้อสรุปที่น่าเป็นห่วงว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเราทราบกันว่ามีอยู่ทั่วโลกจากการนำเสนอข้อมูลผ่านแผนภาพตามสถานการณ์จริงหรือ dashboard นั้น อาจน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริงในขณะนี้หลายเท่าตัว

ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจและพบจริง 1978 ราย แต่งานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่า อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอีกหลายเท่าตัว (แผนภาพจาก ThaiFightCOVID)

ถึงแม้ว่าเราจะเห็นตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการแล้วประมาณ 2,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน) แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยแล้วถึง 14,000 – 40,000 ราย!

หลังจากที่รัฐบาลจีนในออกมายอมรับว่า ภาครัฐของจีนนับและเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉพาะผู้ป่วยที่แสดงอาการเท่านั้น และไม่นับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ทำให้เกิดคำถามที่น่าเป็นห่วงว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะอยู่นั้น เป็นจำนวนที่น้อยกว่าความเป็นจริงหรือไม่? และน้อยกว่าเท่าใด?

นอกจากการที่รัฐบาลในบางประเทศอาจจะไม่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ภาครัฐทราบทั้งหมดแล้ว การนับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ตรงกับความเป็นจริงนั้น ยังมีความท้าทายในเชิงปฏิบัติอยู่หลายประการ คือ

  1. ผู้ที่ได้รับเชื้อจำนวนมาก จะไม่แสดงอาการใดๆ แม้จะเกินระยะฟักตัว 2 – 14 วันแล้วก็ตาม (asymptomatic) ล่าสุดนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า อาจมีผู้ติดเชื้อประเภทนี้มากถึง 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และแน่นอนว่าผู้ติดเชื้อจำนวนมากเหล่านี้จะไม่ไปรับการตรวจหาเชื้อเนื่องจากคิดว่าตนเองไม่มีอาการ และสามารถเป็นพาหะนำโรคได้โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัว
  2. ผู้ได้รับเชื้อที่จะแสดงอาการในภายหลังอาจกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นหลังจากถูกรับเชื้อ (exposed) จึงทำให้อาจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่พบในระยะแรก
  3. เครื่องมือตรวจหาเชื้อไวรัส อาจใช้เวลานานและมีราคาแพง และยังมีอยู่อย่างจำกัดอีกด้วย

จำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการ กับ จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริง : ต่างกันหลายเท่าตัว

ดร. ลูซี่ ลี นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) จากศูนย์วิจัย Chan Zuckerberg Biohub ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านการแพทย์ในความร่วมมือกับ University of California – Berkeley, University of California – San Francisco, และ Stanford University ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุดในงาน COVID-19 and AI: A Virtual Conference ที่จัดผ่านช่องทางออนไลน์โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในการประมาณจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อที่มีอยู่จริงในขณะนี้ทั่วโลก ที่อาจรวมถึงผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการใด ๆ และไม่ได้รับการตรวจเชื้อ

ผลงานวิจัยของ ดร. ลี ได้สรุปผลออกมาว่า จำนวนผู้ป่วยที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการในประเทศจีนในขณะนี้ อาจเป็นเพียง 1 ใน 7 ของจำนวนผู้ติดเชื้อจริงเท่านั้น ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการทั่วโลกอาจเป็นเพียง 1 ใน 20 ของจำนวนผู้ติดเชื้อจริง!

หากเราใช้ผลวิเคราะห์จากงานวิจัยของ ดร.ลี กับสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการแล้ว 1,978 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน) แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยแล้วถึง 14,000 – 40,000 ราย!

จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ (ประเทศไทย)จำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจมีอยู่จริงในขณะนี้ (ประเทศไทย)
1,97814,000 – 40,000

นับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มองไม่เห็น ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูล

ดร. ลี ใช้การวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ถึงสองรูปแบบด้วยกัน คือ การวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยตามอนุกรมเวลา (time series analysis), และการศึกษาโครงสร้างเชิงพันธุกรรม (viral genomic data) และการกลายพันธุ์ (mutation) ของเชื้อโควิด-19 ผลการวิเคราะห์จากโมเดลทางคณิตศาสตร์ทั้งสองโมเดลนี้ ให้ผลการประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริงที่ใกล้เคียงกัน

A screenshot of a cell phone

Description automatically generated
การศึกษาอนุกรมเวลาของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการตรวจพบ เทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อจากวันที่ได้รับเชื้อ สามารถช่วยในการนับจำนวนของผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริงในปัจจุบันนี้ แผนภาพนี้แสดงตัวอย่างการวิเคราะห์อนุกรมเวลาของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีน (แหล่งที่มาจากบทความของ Tomas Pueyo บน Medium)
การศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 และปรากฏตัวในประเทศต่าง ๆ สามารถช่วยในการนับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริงทั่วโลกในขณะนี้ ด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ ในแผนภาพต้นไม้นี้ “กิ่ง” ของต้นไม้แสดงถึง RNA ของไวรัสโควิด-19 ที่ถูกกลายพันธุ์ไปหลากหลายรูปแบบ ยิ่งกิ่งอยู่ใกล้กันเท่าใด ก็ยิ่งเป็นเชื้อที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น (แหล่งที่มาจาก Nextstrain)

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความเหลื่อมล้ำของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริงในสังคม อาจไม่ได้เกิดจากการ “ซ่อนตัวเลข” ของภาครัฐในประเทศต่าง ๆ แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะข้อจำกัดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ใช้เวลาและมีให้อย่างจำกัด และ ความจริงที่ว่า “ผู้ติดเชื้อ” จำนวนมากไม่ได้กลายเป็น “ผู้ป่วย” และเมื่อผู้ติดเชื้อเหล่านี้ไม่แสดงอาการ จึงไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ แต่ยังเป็นพาหะนำโรคในสังคมได้โดยที่ผู้ติดเชื้อเหล่านี้ไม่รู้ตัว

รู้อย่างนี้แล้วต้องทำอย่างไร?

งานวิจัยดังเช่นของ ดร. ลี นั้น ทำให้กรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้กำลังพิจารณาขยายมาตรการให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยอย่างจริงจังเมื่อไปสถานที่ชุมนุม เช่น ห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อซื้ออาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็น อย่างไรก็ดี กรมควบคุมโรคของสหรัฐฯ ยังต้องพิจารณาถึงความขาดแคลนของหน้ากากอนามัยที่กำลังเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน

เมื่อเราทราบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่จริงอาจมีมากกว่าที่เราเห็น (บนรายงานอย่างเป็นทางการ) หลายเท่าตัวในขณะนี้ มาตรการที่ดีที่สุดยังคงเป็นวิธีที่ทุกท่านทราบดี คือ การสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) ซึ่งยังคงเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวในการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ครับ

Papoj Thamjaroenporn

Former-Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at GBDi

© Big Data Institute | Privacy Notice