สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Logo BDI For web

Metaverse คืออะไรกันแน่ และเราจะเอื้อมไปถึงมันยังไง?

Mar 8, 2022
Metaverse คืออะไร
Metaverse คืออะไร

หากทุกคนร่วมมือกัน เราหวังว่า เรากำลังมาถูกทาง

แน่นอนว่าคุณคงเคยได้ยินคำว่า “Metaverse” ผ่านหูกันมาแล้ว แต่อาจยังมีความสงสัยว่า Metaverse คืออะไร ซึ่งในปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีมากมายต่างพูดถึงมัน อย่างบริษัทในชื่อเดิม Facebook ที่เรารู้จักกันดี เชื่อมั่นในเรื่อง Metaverse อย่างมากจนถึงขนาดเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการดำดิ่งสู่โลกออนไลน์ยุคใหม่อย่างสุดตัว

เราคงหาคำจำกัดความง่าย ๆ ของ Metaverse ไม่ได้ ต้นกำเนิดของคำคำนี้ ต้องย้อนกลับไปในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Snow Crash เขียนโดย Neal Stephenson ในปี 1992  ในนิยายเรื่องนี้ มีโลกอีกใบที่ให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวละคร อย่างอวาตาร์นั่นเอง ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด ในนิยายยังมีการพูดถึงอสังหาริมทรัพย์เสมือนจริงด้วย

ถ้าจะพูดกันให้ง่ายที่สุด Metaverse คือเรื่องของ Virtual Reality (VR) เทคโนโลยีที่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมาใหม่ เพื่อดึงให้ผู้ใช้งานออกจากโลกความจริงไปสู่โลกเสมือน และ Augmented Reality ซึ่งคือเทคโนโลยีที่เอาวัตถุจากโลกเสมือนอย่างเช่น ภาพ วิดีโอ หรือเสียงเข้ามาผสานกับสภาพแวดล้อมของโลกจริงที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา (บางครั้งเราเลยเรียกรวมกันเป็นคำว่า “Extended Reality”)

อย่าง Facebook ตั้งแต่ก่อนจะเปลี่ยนชื่อก็ได้ประกาศให้โลกรู้ว่าเอาจริง ด้วยการซื้อ Oculus ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างชุดหูฟัง Virtual Reality แถมตอนนี้ Meta ยังสร้างแผนกชื่อ Reality Labs ซึ่งสร้างอุปกรณ์มากมายไม่ว่าจะเป็น ชุดหูฟัง VR แว่นตาอัจฉริยะ และคาดว่าท้ายสุดเราจะมีแว่นตา Augmented Reality เหมือนอย่างในเรื่องคนเหล็ก Terminator ที่หุ่นสังหารเวลามองอะไรก็จะมีข้อมูลที่เราต้องการแสดงให้ดูหมด เช่น มองเสื้อก็รู้ขนาด ที่มา หรือราคาในทันที

แต่ Metaverse ยังมีนัยยะความหมายอื่น ๆ อีก เช่น อวาตาร์ของเราจะเป็นแค่ตัวเดียวหรือหลาย ๆ ตัว โดยจะสามารถไปปรากฏข้ามค่ายบริษัทหรือข้ามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ แบบเดียวกับตัวคุณสามารถไปที่ Starbucks ในวันถัดมาไปร้าน McDonalds และก็ไปร้านอาหารสุดหรูในอีกวัน บางทีในอนาคตอวาตาร์ของคุณในเกมนึงอาจจะเดินออกจากเกมนั้นและไปโผล่ในอีกงาน Event นึงของอีกบริษัทหนึ่งก็ได้

Metaverse ยังเกี่ยวกับเรื่องการค้าแถมบางคนก็ยังเอาไปผูกกับเรื่องสกุลเงินดิจิทัลอย่างเช่น Bitcoin ไปเลย อวาตาร์ที่ไม่ใช่คนจริง ๆ แต่กลับใช้เงินได้ และยังไม่พอ Metaverse ยังสามารถหาเงินได้ด้วย เช่น อวาตาร์ตัวนั้นอาจช่วยจัดหาของ สินค้าหรือให้บริการต่าง ๆ ใน Metaverse เหมือนกับที่คุณขับรถคันเดียวกันหรือสวมเสื้อผ้าชุดเดียวกันจากที่นึงไปอีกที่นึง อวาตาร์ใน Metaverse ก็สามารถหนีบสินค้าดิจิทัลติดตัวไปจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่งก็ได้เหมือนกัน

นาทีนี้ บางส่วนของ Metaverse ก็เกิดขึ้นแล้ว

ถึงแม้อาจจะเป็นแค่เศษส่วนนึงแต่ Metaverse ปรากฏตัวให้เราเห็นตั้งนานแล้ว เช่น ตั้งแต่ปี 2003 Second Life ได้อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างอวาตาร์เพื่อเล่นเกม อวตาร์ของเราสามารถเข้าร่วมการประชุมได้ ทำธุรกิจก็ได้ หรือแม้แต่ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เสมือนจริงก็ได้อีกด้วย บริษัททั้งใหญ่เล็ก เช่น  IBM, Reuters, NPR หรือบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายก็จริงจังมากเช่นกัน ถึงขนาดมีการสร้างที่ดิน สร้างตึก ไปตั้งสถานที่ฝึกอบรม และอสังหาริมทรัพย์มากมายในแพลตฟอร์ม Second Life ตั้งแต่ตอนนั้น

ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างเช่น ชุดหูฟัง Oculus VR ของ Meta, แว่นตาเสมือนจริงของ Microsoft HoloLens และผลิตภัณฑ์ VR และ AR  นี่เป็นตัวอย่างเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ยุค Metaverse แม้ว่าบางอย่างดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับ Metaverse ขนาดนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนการเปิดโลก Metaverse

แพลตฟอร์มเกมเป็นตัวอย่างแรก ๆ ว่า Metaverse ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งความสนใจใน Metaverse มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Microsoft ยอมจ่ายเงิน 69 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อ บริษัท เกม Activision Blizzard Roblox แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักพัฒนาโปรแกรมทั่วโลกสามารถสร้างเกมแบบ Interactive ที่สนุกสนานหลายล้านคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยผู้เล่นสามารถสร้างอวาตาร์ที่สามารถออกไปเที่ยว ชนแก้ว พูดคุย และจ่ายเงิน (ใช้สกุลเงิน Robux) กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ในโลกเสมือนจริงได้ ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าคล้าย Metaverse อีกอย่างหนึ่งคือ Pokémon Go เกม AR ยอดนิยมที่ช่วยให้ผู้เล่น สามารถโต้ตอบกับภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์  ซึ่งก็คือเจ้าตัวโปเกม่อนเนี่ยแหล่ะ มารวมกับโลกความเป็นจริงผ่านกล้องของสมาร์ทโฟน

ใครก็ตามที่ใช้ Zoom หรือเครื่องมือการประชุมทางวิดีโออื่น ๆ ถือว่าเริ่มเข้าสู่โลก Metaverse เช่นกัน จริงอยู่ที่การประชุมออนไลน์ จะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับอวาตาร์ แต่มันคือการประชุมในโลกเสมือน คอมพิวเตอร์สามารถสร้างฉากหลังอะไรที่เราเลือกตอนประชุม ซึ่งตัวผมเองก็เคยเข้าประชุมออนไลน์แล้วเจอเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าที่ประชุมอยู่ที่บ้าน แต่เลือกใช้ฉากหลังเป็นสถานที่ต่าง ๆ เช่น Co-working Space ชายหาด ร้านกาแฟ เป็นต้น

นอกจากนี้บางยังใช้ฟิวเตอร์ เพื่อเปลี่ยนหน้าตาตัวเอง หรือบางคนเล่นใหญ่ขนาดเปลี่ยนร่าง แปลงเป็นสัตว์ไปเลยก็มี ฟิวเตอร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของพวกแอปโซเชียลมีเดียเช่น Instagram และ Snapchat ซึ่งอาจพูดได้ว่า มันช่วยให้ผู้คนมองเห็นโลกความจริงที่เปลี่ยนไปจากเดิม ถึง Snapchat (แอพไว้คุยกันคล้ายๆ  line, whatapps แต่มีลูกเล่นเรื่องความเป็นส่วนตัวเยอะกว่าเช่น เมื่อเปิดอ่านจะลบข้อความทันทีที่อ่าน ใครแคปหน้าจอ ก็จะมีแจ้งเตือน ซึ่งฮิตมากที่อเมริกา ยุโรป) และ Instagram ยังไม่ใช่ Metaverse แต่นี่ก็คือหนึ่งในก้าวที่เราเข้าใกล้ Metaverse มากขึ้น

จักรวาล Metaverse จะเดินไปทางไหน

ยังไม่มีใครตอบได้ว่า วิวัฒนาการของ Metaverse จะเป็นยังไง แต่เรารู้ว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งใช้เงินหลายพันล้านในการนำเสนอแนวคิดของตนเองว่ามันจะเป็นอย่างไร อย่าง Apple ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกในแง่ของมูลค่าตลาดกล่าวว่า กำลังพัฒนาแว่นตา AR และบริษัทเองก็มีอุปกรณ์พวก AR ที่ไว้ใช้กับ iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทแล้วด้วย

หรือที่ผมกล่าวไว้ก่อนแล้วว่า Microsoft ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าอันดับสองของโลก กำลังพัฒนาแว่นตา HoloLens AR และก็ยังมีแพลตฟอร์มเกม X-Box นอกจากนี้ Microsoft ยังได้เข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard (บริษัทด้านวิดีโอเกม) เรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้ Google จะไม่ค่อยพูดถึง Metaverse แต่นี่คือหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่เปิดตัวแว่นตา AR และแม้ว่า Google Glass จะยังไม่กลายเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่มีวางขายทั่วไป แต่ก็มีเวอร์ชั่นสำหรับองค์กรที่ Google โปรโมทโดยที่เน้นไปที่การใช้งานทางธุรกิจ เช่นเดียวกับ Microsoft ที่มี HoloLens ซึ่งเหมาะกับการใช้ในองค์กรมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป

ในส่วนของ Snapchat ที่เริ่มต้นจากการผลิตกล้องที่สวมใส่ได้ที่ชื่อว่า Spectacles ซึ่งรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ก็มีฟังก์ชั่น Augmented Reality ด้วย แม้ว่าผมจะไม่มีข้อมูลเเรื่องนี้มากนัก แต่คาดว่าบริษัทจะนำอุปกรณ์ของเขามาใช้ร่วมกับ Snapchat แบบจัดเต็มแน่นอน เหมือนอย่างที่บริษัท Meta ที่ท้ายที่สุดก็ได้นำชุดหูฟัง Virtual Reality เข้าไปใช้ใน Instagram, Facebook และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่ Meta มีอยู่อย่างแน่นอน

ความกังวลและความหวัง

การหลอมรวม Metaverse เข้ากับ Social Media ก็เปรียบเสมือนการทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงค่อย ๆ จางหายไป บางทีอาจจะเป็นเรื่องดีที่ผู้คนสามารถสำรวจมุมมองอื่น ๆ ของตัวเองผ่านโลกเสมือนจริง เขาอาจทดลองเปลี่ยนเพศหรือแก้ไขความสามารถทางกายภาพ รวมถึงอาจทำอะไรที่เกินขอบเขตที่พวกเราทำได้ในโลกจริง แต่ผมก็ยอมรับว่าสิ่งนี้มีความน่ากลัวอยู่นิด ๆ เพราะทุกวันนี้จำนวนผู้คนที่ใช้ชีวิตในโลกเสมือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง Augmented Reality และ Virtual Reality อาจถูกใช้โดยพวกหัวรุนแรง สร้างทฤษฎีสมคบคิดหรือชักนำผู้คนโดนมีจุดประสงค์แอบแฝง เช่น ชักนำในการเลือกตั้ง ทำให้ความคิดและพฤติกรรมที่รุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติได้

ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งทำให้ผมสามารถจินตนาการถึงอันตรายทุกประเภทที่อาจมาจาก Virtual Reality, Augmented Reality, Crypto และเรื่องอีกมากมายจาก Metaverse ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ ConnectSafely องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ผมเป็นผู้นำองค์กรอยู่ พยายามทุกวิถีทางที่จะลดความอันตรายเหล่านี้ เราทำคู่มือและเอกสารอื่น ๆ เพื่อแนะนำผู้ปกครองและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Metaverse ในปัจจุบันและอนาคตอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ เรายังใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มี เพื่อให้ Meta, Google, Snap, Roblox up และบริษัทอื่น ๆ ที่เราร่วมงานด้วยสร้างและรักษาความปลอดภัย รวมถึงความเป็นส่วนตัวในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Metaverse

ถึงตอนนี้ผมเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่าโลกที่มี Metaverse จะเดินไปทางใด แต่รู้แน่ ๆ คือการมาของ Metaverse จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ความรู้ และทุก ๆ อย่าง เหมือนกับตอนที่โลกเริ่มมี WWW ในทศวรรษที่ 1990 เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ Social Media ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ตัวผมเองที่เป็นคนกระตืนรือร้นและมองโลกในแง่ดี อยากบอกว่าบางทีมันอาจจะเป็นเวลาที่เหมาะเจาะที่เราจะช่วยกันสร้าง Metaverse ในรูปแบบที่จะไม่ไปสร้างปัญหากับอินเทอร์เน็ตอย่างที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนทั้งภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล องค์กรสนับสนุน และผู้ใช้ทั้งหมดทำหน้าที่ของเราให้ดีทั้งบนโลกจริงและโลกเสมือน

บทความโดย Larry Magid
เนื้อหาจากบทความของ The Mercury News
แปลและเรียบเรียงโดย วิน เวธิต
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร

Waythit Puangpakisiri

Position Technology Solution Principal, IT division

© Big Data Institute | Privacy Notice