22 สิงหาคม 2567, กรุงเทพฯ – รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI พร้อมด้วย นพ.ธนกฤต จินตวร First Executive Vice President, BDI นางสาวน้ำฝน ประโพธิ์ศรี ผู้อำนวยการโครงการ Health Link และทีมเจ้าหน้าที่โครงการ Health Link ร่วมงานแถลงข่าวและลงพื้นที่เตรียมความพร้อมระบบบริการในการขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร” ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด-ทองคำ บำเพ็ญ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารสุข รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ พร้อมประเดิมติดโลโก้ใหม่ “30 บาทรักษาทุกที่” ณ จุดให้บริการร้านยาคุณภาพ


รศ. ดร.ธีรณี กล่าวถึงบทบาทของโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) โดยร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.เชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากสถานพยาบาลทุกสังกัด ไม่ใช่การรวมศูนย์ข้อมูล แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงภายใต้มาตรฐานกลาง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการประเภทใด หรือใช้ระบบสารสนเทศแบบใด ปัจจุบันครอบคลุมสถานพยาบาลและหน่วยบริการกว่า 1,600 แห่ง ทั่วกรุง ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์บริการธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาคุณภาพ และหน่วยนวัตกรรม 2.คืนประวัติการรักษาให้กับประชาชน ผ่านการเชื่อมต่อ API ข้อมูลสุขภาพจาก Health Link ไปยังแอปพลิเคชัน PHR (Personal Health Record – ระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล) ของหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้ แอปฯ ที่อยู่ระหว่างการทดสอบ ได้แก่ เป๋าตัง หมอ กทม. และ แอปฯ ของกระทรวงกลาโหม


3.เชื่อมระบบข้อมูลส่งต่อ ด้วยการต่อยอดการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพื่อความสะดวกในการ refer หรือรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ แบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมนำร่องที่การรับ-ส่งต่อผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. อนาคตจะพัฒนาให้ครอบคลุมหน่วยบริการให้ได้มากที่สุด 4.เพิ่มประสิทธิภาพระบบเบิกจ่าย ส่งประวัติการเข้ารับบริการประกอบข้อมูลเบิกจ่าย พร้อมพัฒนา AI เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการเบิกจ่ายผิดปกติ ช่วย สปสช. ลดเวลาการตรวจสอบ ทำให้หน่วยบริการรับเงินได้เร็วขึ้น


หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่โครงการ Health Link ได้สาธิตวิธีการใช้ระบบ Health Link เชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากสถานพยาบาลข้ามสังกัด พร้อมลงพื้นที่ร้านยาเมด เอ็กซ์เพรส (Med Express) แสดงถึงการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษา เพื่อยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร”


การร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของชาวกรุง ได้เข้าสู่ระบบสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลโดยต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วยเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาของสถานพยาบาลข้ามสังกัด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อน และสามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันท่วงที ตลอดจน กทม. สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมข้อมูลสุขภาพ เพื่อวางแผนบริหารจัดการเมืองเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

